“รวมไทยสร้างชาติ” ยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งร่วมผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจนผ่านสภาฯ ถือเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ด้านความเท่าเทียมทางเพศสร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศไทยในสายตาชาวโลก
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ และอดีตโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … เปิดเผยว่า ที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับดังกล่าว ในวาระที่ 2 และ 3 และได้มีมติเห็นชอบส่งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบหรือพิจารณาดำเนินการ หลังจากนี้ คณะรัฐมนตรีก็จะดำเนินการเสนอร่างกฎหมายไปยังวุฒิสภา เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา หากวุฒิสภาให้ความเห็นชอบแล้ว จึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยจะมีผลบังคับใช้ 120 วันหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา
สำหรับ ร่างกฎหมายดังกล่าวมีสาระสำคัญในการให้สิทธิแก่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น การให้บุคคลสองคนไม่ว่าเพศใดก็ตามสามารถสมรสกันได้ การเรียกค่าทดแทนและเหตุฟ้องหย่าระหว่างคู่สมรส การให้สิทธิคู่สมรสตามกฎหมายต่าง ๆ รวมทั้งการแก้ไขอายุของผู้มีสิทธิหมั้นหรือสมรสต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งจากเดิมกำหนดไว้ที่ 17 ปี
รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า พรรคมีความยินดีที่ได้เป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งเป็นกฎหมายที่สำคัญที่จะเป็นจุดเริ่มในการสร้างครอบครัวที่แข็งแรง สร้างความสมดุลระหว่างสิทธิและศักดิ์ศรี และยังเป็นการปกป้องค่านิยม ความเชื่อ ความศรัทธา และวัฒนธรรมของไทย และยังเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ของการสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่จะได้รับสิทธิและสวัสดิการอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรครวมไทยสร้างชาติเห็นด้วยและผลักดันมาโดยตลอด
“จากที่ได้เจอตัวแทนทูตหลาย ๆ ประเทศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เช่น ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย จะเห็นได้เลยว่า ทั่วโลกจับตาดูอยู่ การผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมด้วยระบอบประชาธิปไตยโดยมีภาคประชาชนและภาคการเมืองเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญ”นางรัดเกล้ากล่าว
นางรัดเกล้า กล่าวย้ำว่า ขอแสดงความยินดีกับ LGBTQIA+ ในประเทศไทยทุกคน ที่จะสามารถสมรสกันได้อย่างเท่าเทียม การผ่านกฎหมายนี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การผ่านกฎหมาย แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงสัญลักษณ์ว่าประเทศไทยพร้อมที่ให้ความสำคัญกับประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ และยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งเป็นเสน่ห์ของค่านิยมที่ถูกปลูกฝังในวัฒนธรรมของคนไทย นอกเหนือจากเป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านกฎหมายและสังคมแล้ว ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศไทยนำไปสู่ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจได้ในอนาคต