Skip to content
Home » “พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” ตอบกระทู้ว่าไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ไฟไหม้โกดัง

“พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” ตอบกระทู้ว่าไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ไฟไหม้โกดัง

“พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” ตอบกระทู้กลางสภาฯ กระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ไฟไหม้โกดังเก็บสารเคมีในพื้นที่ อ.ภาชี ระบุได้ช่วยเหลือเยียวยาประชาชนอย่างเต็มที่ และจัดการกับคนทำผิด เพราะเป็นการลักลอบเผาเพื่อหนีความผิด

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 ที่รัฐสภา น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สส.นครศรีธรรมราช เขต 10 พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะรมว.อุตสาหกรรม ได้ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจาของสส.ในสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากผลกระทบเหตุการณ์ไฟไหม้โกดังเก็บสารเคมีและกากอุตสาหกรรม ที่ตั้งอยู่ใจกลางชุมชนในอำเภอภาชี เมื่อคืนวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา เพราะหวั่นจะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว น.ส.พิมพ์ภัทรา ชี้แจงว่า พื้นที่ที่ถูกไฟไหม้เป็นโกดังที่ลักลอบเก็บกากอุตสาหกรรม พบว่ามีการรั่วซึมของสารเคมี ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้รับเรื่องร้องเรียนมาจากพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา หลังจากนั้นกรมโรงงานอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ลงพื้นที่กว่า 20 ครั้ง เพื่อไปตรวจวัดคุณภาพน้ำ

อีกทั้งยัง ยังมีการทำเรื่องตรวจค้น ยึด อายัด โดยทำงานร่วมกับตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ บก.ปทส. จนทราบว่า โกดังดังกล่าว ไปรับกากอุตสาหกรรมมาจากไหน มีบริษัทใดว่าจ้าง มีการเก็บข้อมูลพยานหลักฐานกว่า 1 ปีกระบวนการอยู่ในขั้นตอนรวบรวมหลักฐาน และกำลังส่งฟ้องต่ออัยการ ก็มาเกิดเหตุเผาโกดังขึ้น

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ จุดเกิดเหตุมี 5 โกดัง จุดที่ไฟไหม้เป็นโกดัง 1 และโกดัง 2 หลังเกิดเหตุตน พร้อมด้วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้สั่งให้อุตสาหกรรมจังหวัดไปเก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุ จนพบว่า สาเหตุของไฟไหม้เกิดจากการลักลอบวางเพลิง คนทำผิดกลัวถูกดำเนินคดี จึงทำการเผา แต่เรื่องที่เกิดขึ้นคนกระทำความผิด จะต้องจ่ายค่าเสียหาย เพราะมีกระบวนการในการดำเนินการทั้งหมด

รมว.อุตสาหกรรม ชี้แจงว่า ข้อกังวลเรื่องการกำจัดกากสารเคมี หรืองบประมาณที่จะใช้ดำเนินการ คณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎรได้พบปะพูดคุยกับอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม จนกระทั่งมีการตั้งงบประมาณจัดการดูแลพื้นที่ดังกล่าวจำนวนเงิน 6,900,000 บาท เพื่อนำไปจัดการพื้นที่ และจัดการกากของเสีย

ทั้งนี้ เบื้องต้นจากการประเมินของเจ้าหน้าที่ คงต้องใช้งบประมาณกว่า 50 ล้านบาทในการดำเนินการ ทางกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ได้นิ่งเฉยในปี 2568 ได้ตั้งงบเพื่อเยียวยา อีก 90 ล้านบาท ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัย ต้องขอขอบคุณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ทำงานเชื่อมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมด้วยดี

“การจัดการกากของเสีย แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.โรงงานที่เกิดกากของเสีย 2.ผู้ขนกากของเสีย และ 3.โรงงานที่รับกำจัดกากของเสีย กฎหมายเดิมใครผลิตของเสีย แล้วว่าจ้างบริษัทไปกำจัดจะหมดความรับผิดชอบ ทำให้ผู้ประกอบการขาดความรับผิดชอบ จึงต้องเพิ่มความรับผิดชอบ ตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง แต่เหตุการณ์ที่อำเภอภาชี เกิดจากบริษัทรับกำจัดของเสียมาแล้วไม่เอาไปจัดการในกระบวนการที่ถูกต้อง แต่กลับนำไปเก็บไว้ในพื้นที่อำเภอภาชี” น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าว

รมว.อุตสาหกรรม ชี้แจงว่า กระบวนการเอาผิด จะต้องเอาผิดกับตัวเจ้าของโรงงาน ผู้ขนส่งต้องถูกดำเนินคดีฐานครอบครองวัตถุอันตราย โดยไม่ได้รับอนุญาต โทษสูงสุดอาจถึงจำคุก 2 ปี ปรับ 200,000 บาท และต้องรับผิดชอบในกระบวนการอื่นๆ ที่ต้องใช้งบจากการดำเนินการของราชการ และเจ้าของโกดัง ก็ต้องรับในฐานะที่ให้เช่าเก็บสิ่งของ

ในกรณีนี้ ได้มีการสอบกลับไปแล้วว่า กากอุตสาหกรรมมาจาก 2 บริษัทที่ตั้งอยู่ในอำเภออุทัย ในช่วงแรกได้มีการตักเตือน แต่ไม่มีการนำกากของเสียไปกำจัดอย่างถูกต้อง วันนี้ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้สั่งปิด และยึดไม่ให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปแล้ว

น.ส.พิมพ์ภัทรา ชี้แจงต่อว่า ประชาชนที่อยู่รอบโรงงาน กว่า 200 ครัวเรือน หลังจากเกิดเหตุนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเข้าไปเยียวยาช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน มีการส่งรถโมบายเข้าไปตรวจวัดคุณภาพน้ำและอากาศ โดยจะทำไปจนกว่าจะมีการนำกากขยะของเสียออกนอกพื้นที่ และเมื่อตรวจสอบคุณภาพอากาศแล้ว ก็ได้แจ้งประชาชนทราบ

ส่วนปัญหาระยะยาว คือการตั้งกองทุนอุตสาหกรรม เพื่อนำเงินมาดูแลเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุดังกล่าว ตั้งแต่ตนเข้ามาเป็นรมว.อุตสาหกรรม มีเหตุลักษณะนี้อยู่เรื่อยๆ ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่ามีช่องว่างและปัญหา คือสิ่งแรกที่เข้าไปดำเนินการ คือการเข้าไปเยียวยาประชาชน ในที่เกิดเหตุจึงได้มีการตั้งกองทุนอุตสาหกรรมขึ้นมา ทั้งหมดคือมาตรการระยะสั้น และระยะยาวที่ได้ดำเนินการ

 

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า