Skip to content
Home » ปธ.กมธ.พลังงาน เชิญผู้แทนให้ข้อมูล “การกำหนดเขตทางทะเลในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยและกัมพูชา”

ปธ.กมธ.พลังงาน เชิญผู้แทนให้ข้อมูล “การกำหนดเขตทางทะเลในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยและกัมพูชา”

ปธ.กมธ.พลังงาน สภาฯ เชิญผู้แทนกองทัพเรือ-สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และกรมกิจการชายแดนไทยเข้าให้ข้อมูล “การกำหนดเขตทางทะเลในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยและกัมพูชา” เผยหากตกลงร่วมกันได้จะเกิดประโยชน์ทั้งสองประเทศ

น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ สส.สุราษฎร์ธานี เขต 3 พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า กมธ.พลังงานได้ประชุมพิจารณาเรื่องร้องเรียน “แนวทางการกำหนดเขตทางทะเลในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา” โดยเชิญ ผู้แทนจากกองทัพเรือ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และกรมกิจการชายแดนไทยเข้าร่วมประชุมให้ข้อมูล

น.ส.วชิราภรณ์ กล่าวว่า ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในพื้นที่อ่าวไทยที่ผ่านมาเกิดเป็นกรณีพิพาทอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ทับซ้อนกันกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งมาเลเซียและเวียดนาม แต่ก็สามารถตกลงกันได้ ซึ่งมีความแตกต่างกับกรณีพิพาทระหว่างไทยและกัมพูชาที่ยังไม่สามารถตกลงหรือหาข้อสรุปร่วมกันได้ โดยแต่ละฝ่ายอ้างสิทธิที่มีพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมีขนาดพื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร โดยไทยและกัมพูชาได้ประกาศเขตไหล่ทวีปทับซ้อนกัน แต่ละฝ่ายต่างอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ทับซ้อน และยังมีปัญหาข้อกฎหมาย แนวคิด และทฤษฎี เนื่องจากทั้งสองฝ่ายได้มีการกล่าวอ้างในการใช้สิทธิที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ กัมพูชาได้ประกาศเส้นฐานตรงรอบชายฝั่งกัมพูชา โดยใช้วิธีลากเส้นจากชายฝั่งไปจรดปลายนอกสุดของเกาะและโขดหินต่าง ๆ ที่กัมพูชาอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ ตลอดทั้งกัมพูชาได้ประกาศอ้างเขตพื้นที่ไหล่ทวีปหลายครั้งและล่าสุด เมื่อปี ค.ศ.1972 แต่เส้นเขตที่กัมพูชาประกาศนั้น ถูกโต้แย้งว่าไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์กฎหมายระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1958 และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล 1982 ไทยจึงไม่อาจยอมรับได้ทำให้เกิดเป็นกรณีพิพาทในพื้นที่ดังกล่าว

ประธานกมธ.พลังงาน กล่าวย้ำว่า จากกรณีพิพาทพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลที่เกิดขึ้นไทยและกัมพูชามีความพยายามเจรจาแก้ไขข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1970 หลังจากนั้นมีการเจรจากันอีกหลายครั้ง จนในที่สุดปี ค.ศ. 2001หรือ พ.ศ.2544 ทั้งสองประเทศได้ตกลงลงนามร่วมกันในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันหรือเรียกย่อๆ ว่า MOU พ.ศ.2544 โดยจะใช้เป็นกรอบในการเจรจา

“มีรายละเอียดหลัก ๆ ระบุว่าไทยและกัมพูชาจะเจรจาแก้ไขปัญหาการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน 2 เรื่อง คือ การเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงสำหรับการพัฒนาแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนร่วมกันและการเจรจาเพื่อจัดทำข้อตกลงแบ่งเขตแดนสำหรับทะเลอาณาเขตไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะในพื้นที่ที่ต้องแบ่งเขต โดยให้ถือเอาเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือเป็นเส้นแบ่ง โดยกำหนดให้พื้นที่ที่อยู่เหนือเส้นละติจูดดังกล่าวเป็นบริเวณที่จะต้องมีการเจรจาเพื่อแบ่งเขตแดน ส่วนพื้นที่ใต้ละติจูดให้จัดทำเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมกัน ซึ่งในการเจรจาจะต้องดำเนินการเจรจาทั้งสองเรื่องไปพร้อมกัน ไม่สามารถแยกเจรจาเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้” น.ส.วชิราภรณ์ กล่าวว่า

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า