กมธ.การพลังงาน สภาฯ ได้เชิญเจ้าหน้าที่จากกรมธุรกิจพลังงาน เข้าชี้แจงให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกำหนดคุณลักษณะและคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงในปัจจุบัน พบมีแนวทางการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเป็นมาตรฐานยูโร 5 เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจากฝุ่นละออง PM 2.5
ที่รัฐสภา น.ส.วิชราภรณ์ การญจนะ สส.สุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมกมธ.ฯ เพื่อพิจารณาเรื่อง “การกำหนดคุณลักษณะและคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงในปัจจุบัน” โดยมี ผู้แทนจากกรมธุรกิจพลังงาน เข้าร่วมให้ข้อมูล
ทั้งนี้ ผู้แทนจากกรมธุรกิจพลังงาน ให้ข้อมูลว่า การกำหนดลักษณะและคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดที่ใช้ภายในประเทศ ได้กำหนดสเปคน้ำมัน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 25 วรรค 1 ของ พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 ที่ให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน มีอำนาจกำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อใช้บังคับทั่วราชอาณาจักร…” ซึ่งปัจจัยในการกำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง ได้แก่ 1.นโยบายรัฐบาล โดยมีการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ และการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ
2. ข้อกำหนดมาตรฐานการระบายมลพิษจากยานยนต์ และเทคโนโลยีรถยนต์ ตามมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
3.ต้นทุนการผลิตและการจัดหาน้ำมัน และ 4.มาตรฐานคุณภาพน้ำมันและวิธีการทดสอบคุณภาพสากลหรือที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง
สำหรับ ขั้นตอนการกำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง เริ่มจาก 1. ศึกษา รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลในด้านต่าง ๆ 2.การจัดทำร่างข้อกำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง 3.จัดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้านและเป็นระบบ จากนั้นเผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลต่อประชาชน ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 77
และ 4. ส่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมธุรกิจพลังงานได้มีการออกประกาศกำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว จำนวน 13 ฉบับ
นอกจากนั้น มีแนวทางการปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นมาตรฐานยูโร 5 เนื่องจากปัญหามลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งกำหนดมาตรการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm (มาตรฐานยูโร 5 ) และให้บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
น.ส.วชิราภรณ์ กล่าวว่า ผู้แทนกรมธุรกิจพลังงานชี้แจงแนวทางการลดชนิดน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ภายในประเทศ คือกลุ่มดีเซล :โดย มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันพุธที่ 13 ธันวาคม 2566 (ครั้งที่ 166) ได้พิจารณา “แนวทางการปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว” และมีมติดังนี้ (1) เห็นชอบแนวทางการปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เกี่ยวกับการยกเลิกมาตรฐานคุณภาพน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาที่มีส่วนผสมไบโอดีเซล ร้อยละ 10 โดยปริมาตร (น้ำมัน บี 10 ) และกำหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วประเภทธรรมดา และประเภทบี 20
(2) มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน โดยกรมธุรกิจพลังงาน นำเรียนคณะรัฐมนตรี เพื่อรับทราบแนวทางการปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ตามที่คณะกรรมนโยบายพลังงานแห่งชาติเห็นชอบต่อไป (3) มอบหมายกรมธุรกิจพลังงาน ประสานกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้อง ในการบริหารจัดการอุปทานน้ำมันปาล์มจากการปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็วตามแนวทางการปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว
สำหรับ กลุ่มน้ำมันเบนซิน แนวทางการบริหารจัดการในช่วงปี 2567 – 2580 มีการปรับลดชนิดน้ำมันเพื่อลดภาระของสถานบริการ และรองรับการยกเลิกการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพในอนาคต ดังนี้ (1) ยกเลิกการอุดหนุนราคา E 85 ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป (2) ยกเลิกการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ E10 ออกเทน 91 ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป (3) กำหนดชนิดน้ำมันเบนซินฐานของประเทศ ตั้งแต่ปี 2570 ซึ่งมีทางเลือกที่ 1 : แก๊สโซฮอล์ E20 เป็นเบนซินฐาน และทางเลือกที่ 2 : แก๊สโซฮอล์ E10 ออกเทน 95 เป็นเบนซินฐาน (4) ปรับโครงสร้างราคาให้สอดคล้องกับการยกเลิกอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ ผลักดันการใช้มาตรการภาษีคาร์บอนร่วมกับน้ำมันเชื้อเพลิง
นอกจากนั้น ยังมีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจใหม่ คือ 1.ธุรกิจปิโตรเคมีและปิโตรเคมีขั้นสูง ปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับหลักการการจัดทำอัตราการระบายมลพิษตามเกณฑ์ 80/20 เป็นอุปสรรคต่อการขยายอุตสาหกรรมใหม่ และมีข้อเสนอเชิงนโยบายที่มีการพิจารณามาตรการและการดำเนินงานการจัดสรรอัตราการระบายมลพิษที่มาบตาพุด
2.ธุรกิจโรงกลั่นชีวภาพ โดยมีเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน น้ำมันดีเซลชีวภาพสังเคราะห์ น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ และพลาสติกชีวภาพ ปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับการขาดความชัดเจนด้านนโยบายในการผลักดันให้เกิดการผลิตและการใช้ SAF ทำให้ไม่เกิดแรงจูงใจในการลงทุน และเป็นข้อจำกัดในการส่งเสริมการลงทุนของหน่วยงานภาครัฐ ข้อจำกัดในวัตถุดิบบางชนิด และเทคโนโลยีที่มีต้นทุนสูง ส่วนของน้ำมันดีเซลชีวภาพสังเคราะห์ มีราคาต้นทุน BHD สูง จึงไม่สามารถแข่งขันต่อราคาน้ำมันดีเซลได้ สำหรับน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ มีตลาดขนาดเล็ก และมีราคาสูงกว่าฟอสซิล 3 เท่า จึงเหมาะกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่หากเกิดเพลิงไหม้จะมีความเสียหายมูลค่าสูง
ประธานกมธ.พลังงาน กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายมีการขับเคลื่อนด้านนโยบายของประเทศ และการขับเคลื่อนการส่งเสริมการลงทุนในระดับนโยบายประเทศ ส่วนของน้ำมันดีเซลชีวภาพสังเคราะห์ได้มีการพิจารณามาตรการด้านภาษี BHD ตามความจำเป็น เนื่องจาก BHD เป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้ จากการผลิต SAF โดยวิธี Co-Processed สำหรับน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพได้มีการขอความร่วมมือให้ 3 การไฟฟ้าปรับเปลี่ยนมาใช้น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ นอกจากนี้พลาสติกชีวภาพได้รับสิทธิและประโยชน์การลงทุนแล้ว
ประธานคณะกรรมาธิการ มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า
หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ ในการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นและควรกำหนดมาตราการรองรับในส่วนเกษตรกรผู้ปลูก ปาล์ม อ้อย ด้วย