Skip to content
Home » กมธ.อุตสาหกรรม สภาฯเชิญหลายหน่วยงานมาหารือสรุปเหตุพลุระเบิด

กมธ.อุตสาหกรรม สภาฯเชิญหลายหน่วยงานมาหารือสรุปเหตุพลุระเบิด

กมธ.อุตสาหกรรม สภาฯเชิญหลายหน่วยงานมาหารือสรุปบทเรียนเหตุพลุระเบิดที่ จ.สุพรรณบุรี เล็งปรับปรุง พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรมให้การผลิตพลุมาอยู่ในความดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความรอบคอบรัดกุม

เมื่อวันที่ 24 มกราคม ที่รัฐสภา นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม(กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะ แถลงผลการประชุมคณะกมธ.ฯ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาทบทวนและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโรงงานพลุ โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง คือ กรมการปกครอง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี และเจ้ากรมการอุตสาหกรรมทหาร

ทั้งนี้ จากเหตุการณ์พลุระเบิดที่ จ.สุพรรณบุรี ได้รับการรายงานจากทางจังหวัดสุพรรณบุรีว่า มีผู้เสียชีวิต 23 ราย ซึ่งกมธ.ฯ ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวของผู้ประสบเหตุและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว กมธ.ฯได้เชิญหน่วยงานมาประชุมหารือเพื่อหามาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นอีก ซึ่งมีข้อสรุปเบื้องต้น 2 ประเด็นคือ ประเด็นแรก ต้องมีการปรับปรุง พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้โรงงานผลิตพลุเข้ามาอยู่การควบคุมดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้โรงงานต่าง ๆ เหล่านี้มีกระบวนการเก็บวัตถุดิบ มีกระบวนการผลิต และมีกระบวนการกำจัดกากอุตสาหกรรมจากโรงงานผลิตพลุอย่างมีมาตรฐาน

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นพ้องร่วมกันว่า ควรจะมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว ส่วนรายละเอียดในการแก้ พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรมจะต้องให้เกิดผลกระทบกับพี่น้องประชาชนที่ทำพลุครัวเรือนให้น้อยที่สุด และต้องให้ผู้ประกอบกิจการพลุในลักษณะชุมชนเข้ามาอยู่ในกฎระเบียบเพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน ซึ่งในขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไปร่างแก้ไขพ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม ในส่วนชั้น กมธ.ฯจะตั้งคณะทำงานแก้ไขร่าง พ.ร.บ. โรงงานอุตสาหกรรมเช่นกัน เพื่อนำอุตสาหกรรมการผลิตพลุเข้ามาสู่กระบวนดูแลควบคุมและตรวจสอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม

สำหรับ ประเด็นที่สอง จากการชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบว่ากฎระเบียบที่มีอยู่ทั้งในส่วนของกรมอุตสาหกรรมทหาร ซึ่งมี พ.ร.บ. ควบคุมยุทธภัณฑ์ กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน มีพ.ร.บ.ความปลอดภัยในการทำงาน ในส่วนของจังหวัดสุพรรณบุรี ฝ่ายปกครองมีการออกไปตรวจสอบและออกใบอนุญาต มีการออกกฎระเบียบที่ค่อนข้างรัดกุม หากสามารถดำเนินการได้ตามนี้จะไม่เกิดเหตุการณ์ระเบิดได้ ซึ่ง กมธ.ฯตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุของการระเบิดในครั้งนี้ คาดว่า อาจเกิดจากการไปตรวจโรงงานในช่วงที่โรงงานปิดไม่ได้ประกอบกิจการ ตรงนี้อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น เพราะในระหว่างที่มีการผลิตหากเจ้าหน้าที่มีการตรวจสอบ และเห็นว่ากระบวนการผลิตมีความสุ่มเสี่ยงจะเกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดความเสียหายทางเจ้าหน้าที่สามารถให้หยุดประกอบกิจการได้ แต่เมื่อไปตรวจตอนที่ไม่มีการผลิตมีแต่ตัวโรงงาน อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความสูญเสียอย่างร้ายแรงที่เกิดขึ้น
“ กมธ.ฯ จะนำข้อสังเกตมาสอบหาข้อเท็จจริงต่อไปว่าการที่เจ้าหน้าที่ไปตรวจโรงงานผลิตพลุในช่วงหยุดการผลิตเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงหรือไม่ และเมื่อได้ผลการตรวจสอบแล้วจะเชิญเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน กรมคุ้มครองแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ตลอดจนกรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมการปกครอง มาสอบถามข้อเท็จจริงอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่แน่นอนว่า การเจ้าหน้าที่ไปตรวจในช่วงที่โรงงานไม่มีการผลิตอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงในครั้งนี้”นายอัครเดชกล่าว

ประธานกมธ.อุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้มีประกาศกระทรวงโดยปลัดกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากเกิดเหตุที่จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้มีการออกประกาศเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดลงไปตรวจสอบในข้อเท็จจริง พบว่าที่จังหวัดสุพรรณบุรีมีการตรวจสอบแล้ว แต่ว่าไปตรวจสอบช่วงเดือนสิงหาคมซึ่งเป็นช่วงที่มีการหยุดการผลิต ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่เห็นกระบวนการผลิตว่ามีความปลอดภัยหรือไม่ ซึ่ง กมธ.ฯจะนำข้อมูลตรงนี้มาสอบหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในลำดับถัดไป