“วิชัย สุดสวาส์ดิ์” สส.ชุมพร รทสช. ตั้งกระทู้ถามแนวทางการเปลี่ยนที่ดิน สปก. เป็นโฉนด ขณะที่ “ธรรมนัส” แจงชัดกฎหมายออกเรียบร้อย พร้อมเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข หวังให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งทุน และเปลี่ยนมือสู่ทายาทที่ไม่ได้เป็นเกษตรกรได้
.
นายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส.ชุมพร เขต 1 พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ตั้งกระทู้ถามแยกเฉพาะ ต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ในประเด็นการเปลี่ยนที่ดิน สปก. เป็นโฉนดที่ดิน โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นตัวแทนตอบคำถาม
.
นายวิชัย กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรจำนวนหนึ่งล้านคนขาดเอกสารสิทธิ์ หรือโฉนดที่ดินที่เป็นของตนเองอยู่อาศัยและทำมาหากิน เนื่องจากที่ดิน สปก.ที่ครอบครองอยู่ เป็นเอกสารสิทธิ์ที่มีข้อจำกัด ไม่สามารถเปลี่ยนมือได้ ยกเว้นแต่การโอนตามมรดกให้กับทายาทที่ต้องทำเกษตรกรเท่านั้น และยังมีเงื่อนไขทำให้เกษตรกรที่ถือครองที่ดิน สปก.ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุน ที่สามารถเข้าถึงได้คือธนาคาร ธกส. และได้สินเชื่อเพียง 50% ของราคาประเมินที่ดิน ทำให้ต้องไปกู้เงินนอกระบบ เกษตรกรขาดแรงจูงใจในการลงทุนในการพัฒนาพื้นที่ เพื่อผลตอบแทนในระยะยาว และไม่มีทางเลือกในการโอนสิทธิ์ขายที่ดินเพื่อย้ายถิ่นฐานไปประกอบอาชีพ
.
นอกจากนี้ ข้อกำหนดของ สปก. ที่ยังระบุว่า ที่ดินดังกล่าวต้องทำการเกษตรเท่านั้น ทำให้เกษตรกรไม่สามารถต่อยอดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น เปิดร้านค้า เปิดฟาร์มสเตย์ในพื้นที่ สปก. ทายาทที่สำเร็จการศึกษาและรับราชการ ก็ไม่มีสิทธิได้รับโอนจากสิทธิ์ของ สปก.ได้
.
“ประเด็นนี้ พรรครวมไทยสร้างชาติ โดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค ได้เห็นความสำคัญของปัญหานี้ จากการที่มีผู้ร้องเรียนมาตลอด และดีใจที่วันนี้กลายมาเป็นนโยบายของรัฐบาล ที่จะทำให้เกษตรกรจะลืมตาอ้าปากได้ โดยเฉพาะผู้ถือครองเอกสารสิทธิ์ สปก. ผมจึงขอถามว่า รัฐบาลมีนโยบายเปลี่ยน สปก.เป็นโฉนดที่ดินหรือไม่ หากมีนโยบายเปลี่ยน สปก.เป็นโฉนดที่ดิน รัฐบาลมีมาตรการ หรือแนวทางในการดำเนินการอย่างไร”
.
สำหรับ ประเด็นที่สอง ตนขอสอบถามแนวทางว่า หากรัฐบาลจะมีนโยบายเปลี่ยน สปก.เป็นโฉนดที่ดิน อยากทราบว่า มีแนวทางแก้ปัญหากับกลุ่มพื้นที่ ที่เป็นปัญหาพื้นที่ซ้ำซ้อน หรือพื้นที่โซนซี ที่ไม่เข้าข่ายพื้นที่ สปก.อย่างไร
.
และประเด็นที่สาม คือ มีแนวทางเรื่องการโอนสิทธิ์ที่ดิน สปก.ให้กับทายาทที่ไม่ได้ทำการเกษตรอย่างไร เพราะลูกหลานของเกษตรกรที่เติบโตมาทำงานราชการ ทำงานอื่นๆ ไม่ได้เป็นเกษตรกรไม่สามารถที่จะรับโอนที่ดิน สปก.ได้
.
สำหรับ กระทู้ถามของ นายวิชัย ร.อ.ธรรมนัส ได้ชี้แจง ว่า ในการเปลี่ยนที่ดิน สปก.เป็นโฉนดที่ดินนั้น หลังจากที่ได้มีการปรับแก้ระเบียบกฎหมายต่างๆ แล้ว มีเงื่อนไขว่า ต้องเป็นผู้ถือครองที่ดินมากกว่า 5 ปี เป็นที่ดินทำการเกษตรไม่เกิน 50 ไร่ ภาคปศุสัตว์ไม่เกิน 100 ไร่ จะสามารถเปลี่ยนที่ดิน สปก.เป็นโฉนดที่ดินที่เรียกว่า โฉนดที่ดินเพื่อการเกษตรเท่านั้น และหลังจากเปลี่ยนเป็นโฉนดดังกล่าว เกษตรกรก็สามารถนำไปเป็นหลักประกันในการเข้าถึงแหล่งทุน โดยจะมีการลงนามข้อตกลงร่วมกันระหว่างสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (สปก.) กับธนาคารของรัฐ เช่น ออมสิน,กรุงไทย ฯลฯ กองทุน สปก. สหกรณ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มแหล่งทุนให้กับเกษตรกรหลังจากที่ก่อนหน้านี้ทำได้เพียงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรการเกษตร (ธกส.) เท่านั้น
.
ทั้งนี้ ส่วนของที่ดินที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่สำนักงานปฏิรูปที่ดิน ไม่สามารถนำมาจัดให้เป็นที่ดิน สปก.นั้น จะมีการยกเลิกกฤษฏีการประกาศเขตปฏิรูปที่ดินทั้งอำเภอ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการประกาศครอบคลุมทั้งหมด ทำให้มีพื้นที่มีปัญหาอยู่ในหลายอำเภอ ใน 21 จังหวัด กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งดำเนินการดังกล่าว เมื่อยกเลิกกฤษฎีกาดังกล่าวแล้ว ประชาชนจะสามารถยื่นขอจดเป็นโฉนดที่ดินได้ โดยครอบคลุมทั้งที่ดินทหาร ที่ดินทุ่งเลี้ยงสัตว์ ด้วย ส่วนที่เป็นพื้นที่ว่าง ก็จะจัดสรรให้กับประชาชนต่อไป
.
รวมถึงรัฐบาลกำลังจะแก้กฎหมาย เพื่อให้ทายาทที่ไม่ได้เป็นเกษตรกร สามารถที่จะรับโอนที่ดิน สปก.ดังกล่าวด้วยเช่นกัน