“พีระพันธุ์” ย้ำทำงานต่อเนื่องตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง รมว.พลังงาน ชี้เตรียมรื้อโครงสร้างพลังงานเพื่อความโปร่งใส-เป็นธรรม เดินหน้าส่งร่างแก้กฎหมายพลังงานเข้าสภาฯ ปีหน้า เพื่อปรับเรื่องต่างๆ ให้ดีขึ้น และสามารถกำกับดูแลได้มากขึ้น พร้อมเรียกร้องทุกพรรคสนับสนุน
เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ที่รัฐสภา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นตัวแทนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจาในประเด็นพลังงานของนายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ว่า ตนได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีเพื่อตอบคำถามกับผู้ตั้งกระทู้ถามดังกล่าว ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีโอกาสพูดคุยกันมาแล้ว
นายพีระพันธุ์ กล่าวชี้แจงว่า ตามที่ผู้ตั้งกระทู้ถามระบุว่าตนไมได้ทำอะไรเลยหลังจากที่พูดคุยกันนั้น ไม่เป็นความจริง ส่วนผู้ตั้งกระทู้ถามจะเชื่อหรือไม่เป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคลที่ตนไม่สามารถห้ามได้ ทั้งนี้การไม่ได้ติดต่อกันไม่ได้หมายความว่าตนไม่ได้ทำอะไร เพราะในความเป็นจริง ตนได้ทำงานมาอย่างต่อเนื่อง
นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นปัญหาโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติที่ไม่เป็นธรรม จากกรณีที่เอกชนนำก๊าซจากอ่าวไทยไปใช้ในธุรกิจ ซึ่งได้ใช้ราคาเดียวกับประชาชนนั้น ประเด็นนี้ ตนได้ลงไปตรวจสอบแล้ว และได้รับคำตอบว่าก๊าซฯ จากอ่าวไทยไม่ได้ถูกนำมาใช้ได้ทั้งหมด และที่ผ่านมาเป็นการดำเนินการของเอกชนเท่านั้น
นายพีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า แต่หลังจากที่ตนได้ศึกษา และเร่งแก้ปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทั่งล่าสุด คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้กำหนดให้กลุ่มธุรกิจจะต้องซื้อก๊าซฯ ในราคาเท่ากับอุตสาหกรรมทั่วไปแล้ว ส่วนประชาชนจะได้ใช้ก๊าซในราคาที่ถูกคือที่ประมาณ 219 บาท
นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่สอง เกี่ยวกับค่าปรับจาก ปตท. ที่ไม่สามารถนำส่งก๊าซฯ ได้ตามสัญญานั้น ตนขอแจ้งให้ทราบว่า ขณะนี้ได้เรียกเก็บเงินจำนวนดังกล่าวมาแล้วและได้นำมาเป็นส่วนสมทบ เพื่อนำมาลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน ที่ได้มีการประกาศราคาไปครั้งล่าสุดนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ส่วนประเด็นที่สาม เรื่องค่าผ่านท่อก๊าซฯ นั้นยอมรับว่า ยังไม่ได้ข้อมูลที่ชัดเจน เพราะในการขอข้อมูลต่างๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ขณะนี้ได้เร่งดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน และเพื่อนำไปสู่การหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป
“ตลอดเวลาที่ผมเข้ามารับตำแหน่ง ผมมีแนวคิดเสมอว่า จะไม่เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาระยะสั้นเท่านั้น แต่ต้องทำให้เกิดความยั่งยืน คือต้องรื้อระบบพลังงาน เพื่อไม่ปล่อยให้ราคาพลังงานของไทยถูกกดโดยราคาตลาดโลก และต้องคิดว่าจะมีวิธีการอย่างไรในการรับมือกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ไม่ใช่ยอมจำนนกับราคาตลาดโลกเพราะสุดท้ายพี่น้องประชาชนจะเป็นคนแบกปัญหาทั้งหมด” นายพีระพันธุ์ กล่าว
รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังได้ตอบคำถามในประเด็นเรื่องปริมาณโรงไฟฟ้าที่มีอยู่เกินความจำเป็นจนทำให้รัฐเสียประโยชน์ และความโปร่งใสของประกาศระเบียบการรับซื้อพลังงานทดแทนในปีที่ผ่านมาที่ถูกตั้งคำถามจากภาคประชาชนถึงความผิดปกติว่า ทั้งสองเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่ตนคิดว่าต้องปรับปรุงแก้ไขเกี่ยวกับสัญญาต่างๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจนโปร่งใส และเป็นธรรมโดยไม่ทำให้ภาครัฐเสียเปรียบ แต่การดำเนินการเรื่องการแก้ไขระเบียบ สัญญาต่างๆ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เพราะที่ผ่านมากระทรวงพลังงาน ได้พยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้เเล้ว โดยประสานงานกับหน่วยงานในภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย และเรื่องการดำเนินการตามกฎหมาย เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งตนได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าขอเป็นมติ ในการประชุม คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ว่าต้องการจะปรับปรุงแก้ไขศึกษากฎสัญญาต่างๆ และในการประชุมก็ได้มีมติไปแล้ว และอยู่ในระหว่างการดำเนินการ
ทั้งนี้ในโครงสร้างกฎหมายพลังงานปัจจุบัน หน่วยงานกำกับดูแลด้านพลังงาน เช่น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะมีหน้าที่การทำงานที่อิสระจากการกำกับดูแลจากบริหาร นายกรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรีกระทรวพลังงานแทบจะไม่มีอำนาจในการกำกับสั่งการได้เลย จึงเป็นปัญหาในทางกฎหมาย
“ผมจึงขอเรียนผ่านท่านประธานไปไปยังทุกพรรคว่า ต่อไปจะมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ภาครัฐ รัฐบาล หรือกระทรวง สามารถเข้าไปกำกับดูแลเรื่องต่างๆ เหล่านี้ได้มากขึ้นกว่าโครงสร้างกฎหมายปัจจุบัน ถ้าหากว่าเรามีความเห็นตรงกัน ในปีหน้าผมจะพยายามยื่นกฎหมายเหล่านี้เข้าสภาฯ เพื่อปรับเรื่องต่างๆ เหล่านี้ให้ดีขึ้น และให้สามารถกำกับดูแลได้มากขึ้น ตามท่านผู้ตั้งกระทู้พูด และผมขอความกรุณาช่วยสนับสนุนร่างของทางรัฐบาลเพื่อเรื่องนี้ด้วย” นายพีระพันธุ์กล่าว