Skip to content
Home » 3 สส. รทสช พร้อมใจอภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

3 สส. รทสช พร้อมใจอภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

3 สส.พรรครวมไทยสร้างชาติพร้อมใจอภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม วอนกรรมาธิการฯพิจารณารายละเอียดให้รอบคอบรัดกุม โดยเฉพาะประเด็นที่อ่อนไหวของสังคมและศาสนา ย้ำต้องคุ้มครองดูแลเด็กที่มาจากครอบครัวพ่อแม่เพศเดียวกันไม่ให้ได้รับผลกระทบทางสังคม

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ที่รัฐสภา 3 สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ประกอบด้วย นายศาสตรา ศรีปาน สส.สงขลา เขต 2 , รศ.(พิเศษ) ดวงฤทธิ์ เบญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ และนางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ สส.บัญชีรายชื่อ ได้ร่วมอภิปรายสนับสนุน ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ… หรือ ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ รวมถึง ร่างพ.ร.บ. ที่มีลักษณะเดียวกัน อีก 3 ฉบับ

นายศาสตรา ได้อภิปรายสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวว่า รู้สึกดีใจ ที่สภาฯได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับกฎหมายความเท่าเทียมทางเพศ จากที่ได้ฟังเพื่อนสส.ได้อภิปราย จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ จะโหวตให้ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ผ่าน และหวังว่าให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว

นายศาสตรา กล่าวด้วยว่า กฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญ ขณะเดียวกันต้องมีความรอบคอบในการพิจารณาในมาตราต่างๆ เพราะมีความอ่อนไหวเกี่ยวข้องกับประเด็นของสังคมและศาสนา จึงต้องพิจารณาอย่างรัดกุมไม่ฉาบฉวย ไม่ใช่พิจารณาอย่างเท่ๆ กฎหมายต้องบังคับได้จริง และมีประโยชน์กับคนไทยทุกเพศทุกคน

นายศาสตรา กล่าวด้วยว่า จากที่ได้ดูเนื้อหาในร่างพ.ร.บ.ที่เสนอเข้ามาในสภา 4 ร่าง ต่างกันไม่มาก มีการใช้คำว่า บุคคลแทนคำว่า ชายหญิง ใช้คำว่า คู่สมรสแทนคำว่า สามีภรรยา แต่เรื่องที่แตกต่างกันคือ อายุขั้นต่ำในการหมั้น หรือการสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ปัจจุบันกำหนดให้มีอายุ อย่างน้อย 17 ปีบริบูรณ์ แต่ในระดับสากลอายุ 18 ปีบริบูรณ์ ถือว่า เป็นผู้ใหญ่มีวุฒิภาวะ จึงอยากฝากเพื่อนสมาชิกที่เป็นกรรมาธิการฯช่วยดูประเด็นเรื่องอายุด้วย

สำหรับ ประเด็นที่ 2 ที่คงไว้คำว่า ระบุเพศ เพื่อให้สอดคล้องกับสรีระของบุคคล ร่างของรัฐบาลคงให้มีอยู่ เช่น ชายกับหญิงแต่งงานกันมีลูกแล้วเลิกกัน เมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมออกมา ประเด็นนี้ คงไว้ จะได้ไม่มีปัญหาตามมา อยากให้กรรมาธิการฯดูในเรื่องนี้ด้วย

ส่วนประเด็นที่ 3 ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ค่อนข้างคำนึงคือ หลักศาสนา ผู้ศรัทธาในศาสนาที่แตกต่างกันเราต้องเคารพ ซึ่งกันและกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิบัติตามหลักศาสนกิจ ไม่ควรเข้าไปก้าวล่วง หลักศาสนานั้นๆ เช่นเมื่อกฎหมายนี้บังคับใช้ ผู้หญิงที่แปลงเพศมา จะมาอ้างว่าแปลงเพศแล้วจะบวชได้หรือไม่ จะขอบวชไปอยู่กับพระสงฆ์ ตรงนี้ยังทำไม่ได้ หรือการปฏิบัติศาสนกิจจะละเมิดกฎเดิมของศาสนาอิสลามตนก็ไม่เห็นด้วย ตนจึงอยากฝากประเด็นเหล่านี้ให้กรรมาธิการฯพิจารณาด้วย

“ผมเชื่อว่า คนไทยได้ฟังก็ชื่นใจ เมื่อกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ ทุกคนจะเสมอภาคกันในเรื่องเพศ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คนที่ได้ประโยชน์จากกฎหมายนี้จะได้รับสิทธิสมรส การเซ็นยินยอมผ่าตัด การเป็นตัวแทนคดีอาญา หรือเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเป็นทายาทโดยชอบธรรมในการรับเป็นบิดามารดา สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน ต้องรวมถึง สวัสดิการกรณีคู่สมรสเป็นข้าราชการ รวมถึงภาคเอกชน สวัสดิการต้องถึงคู่สมรสด้วย ตนอยากฝากถึงการจัดงบประมาณต่างๆ ถ้าแต่งงานกับข้าราชการ ก็ต้องมีงบฯที่เป็นสวัสดิการถึงคู่สมรสด้วย ซึ่งงบประมาณจะเพียงพอหรือไม่ ขอฝากกรรมาธิการฯได้พิจารณาให้รอบคอบ” นายศาสตรากล่าว

นายศาสตรา กล่าวย้ำว่า ประชาคมโลกจับตาเราทุกฝีก้าวกฎหมายฉบับนี้ จะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย และจะเป็นแนวหน้าในการให้สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่เข้มแข็งประเทศหนึ่งของโลกทันที จะเป็นไทยแลนด์โมเดลเป็นเบอร์ 1 ของเอเชีย มีการพัฒนาในหลายๆ มิติ ตนเชื่อเช่นนั้น เช่น ในเรื่องความปลอดภัยถ้าเราไม่มีกฎหมายนี้ออกมาดูแลกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ คนที่จะเข้ามาเที่ยวจะมองว่าประเทศไทยไม่ปลอดภัย และกลับมองว่าเป็นประเทศที่อันตราย ไม่ได้รับความคุ้มครอง แต่หลังจากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ เชื่อว่าทุกคนจะรู้สึกว่า ประเทศไทยปลอดภัย เข้ามาจัดงานเวิลด์ไพรด์นำเงินเข้าประเทศหลายหมื่นล้าน

สุดท้ายนี้ตนและพรรครวมไทยสร้างชาติขอสนับสนุนร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมที่เป็นประโยชน์กับประชาชน โดยเฉพาะร่างของรัฐบาล ต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่ได้ยกมาเป็นวาระเร่งด่วน ตนหวังว่าสมาชิกทุกคน จะเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เป็นกฎหมายที่มีประโยชน์ และบังคับใช้อย่างเร็วที่สุดเพื่อคนไทยทุกคน

ด้าน รศ.(พิเศษ) ดวงฤทธิ์ อภิปรายสนับสนุนเช่นเดียวกันว่า รัฐธรรมนูญระบุว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายมีสิทธิ มีเสรีภาพ ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับปัจจุบัน ยังมีอีกหลายส่วนที่ทำให้ไม่เท่าเทียมกัน เรื่องหนึ่งก็คือเรื่องของคู่ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นชายกับชาย หรือหญิงกับหญิงที่กฎหมายในปัจจุบันยังไม่ได้กล่าวถึงในเรื่องของสิทธิในเรื่องของสวัสดิการและเรื่องของทรัพย์สินของผู้สมรส

ทั้งนี้ เมื่อรัฐธรรมนูญได้กำหนดแล้วว่า ไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน เรื่องของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็ควรต้องแก้ไขให้ได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน เช่น หลายคนที่เป็นคู่ชีวิตไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพย์สินระหว่างใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน เรื่องของสิทธิ์ เรื่องของสวัสดิการที่คู่สมรสตามกฎหมายควรจะได้รับ ไม่ว่าท่านจะทำงานอยู่ในภาครัฐ หรือภาคเอกชน แต่ปัจจุบันนี้ คู่ชีวิตที่อยู่ด้วยกันและกฎหมายยังไม่ได้รับรองสิทธิ พวกเขาจะไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับสวัสดิการนั้นๆ ทั้งที่เขาเหล่านั้นควรจะได้รับสิทธิ์เท่าเทียมอย่างคู่ที่เป็นคู่สมรสตามกฎหมาย

รศ.(พิเศษ) ดวงฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า ในเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินเงินทองที่ทำมาหากินมาร่วมกันตลอดระยะเวลาที่ใช้ชีวิตร่วมกัน ถ้ากฎหมายปัจจุบัน ยังไม่รับรองสิทธิของคู่ชีวิตในเรื่องของทรัพย์สินเสมือนการเป็นผู้สมรสตามกฎหมาย ไม่ถือเป็นสินสมรส คู่ชีวิตไม่มีสิทธิได้รับมรดกของกันและกัน เพราะไม่ใช่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมายที่กำหนด ถ้าในอนาคตคู่ชีวิตต้องจากไปทรัพย์สินที่หามาได้ร่วมกันจะตกทอดกันได้ตามกฎหมาย การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายในครั้งนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับคู่ชีวิตที่จะได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกัน ทั้งสินสมรส การบริหารจัดการทรัพย์สินร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายต้องยินยอมและรับรู้ซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุผลนี้พรรคจึงขอสนับสนุนการสมรสเท่าเทียม

ขณะที่ นางพิชชารัตน์ ได้อภิปรายสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเช่นเดียวกันว่า การสมรสเท่าเทียม คือสิทธิที่ทุกคนควรได้รับ กฎหมายฉบับนี้สามารถทำให้คนเพศเดียวกันสามารถแต่งงาน มีสิทธิ มีหน้าที่ ทางสังคมครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสชายและหญิง และยังเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ

นางพิชชารัตน์ กล่าวต่อว่า สังคมวันนี้ยินดีที่รัฐบาลได้นำกฎหมายฉบับนี้เข้ามาพิจารณาในสภาฯ แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่สิ่งที่ขอฝากประเด็นให้กรรมาธิการฯได้พิจารณาว่า เราจะปกป้องเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีเพศเดียวกันภายใต้พ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างไร ในฐานะคนที่เป็นพ่อและแม่ ไม่มีใครอยากเห็นลูกถูกล้อ ถูกรังแก จนได้รับผลกระทบทางจิตใจจากสังคม เด็กที่มาจากครอบครัวที่พ่อแม่มีเพศเดียวกัน จึงควรได้รับการคุ้มครอง และควรได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ เพื่อให้เด็กเติบโตมาโดยมีพัฒนาการที่สมบูรณ์แข็งแรง ทั้งร่างกายและจิตใจ และสิทธิของเด็กที่เกิดจากครอบครัวเพศเดียวกันควรได้รับการคุ้มครองภายใต้พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

“ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์ในการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ สิทธิ์ในการรับรองนามสกุลของพ่อแม่ สิทธิ์ในการรับมรดกจากพ่อแม่ หรือสิทธิในการรับสวัสดิการและความช่วยเหลือจากภาครัฐ สิ่งที่เหล่านี้จะช่วยให้เด็กที่เกิดจากครอบครัวในเพศเดียวกัน ต้องเติบโตมา และใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขและปลอดภัย นอกจากนั้นจำเป็นต้องมีการรณรงค์ เพื่อสร้างความเข้าใจให้สังคมไทย ว่าทุกคนมีสิทธิ์เลือกคู่ครองใช้ชีวิตตามรสนิยมทางเพศของตัวเองโดยต้องไม่ถูกรังแกหรือเหยียดหยามทางสังคม”นางพิชชารัตน์กล่าว

นางพิชชารัตน์ กล่าวต่อว่า การให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศให้กับเด็กและเยาวชน ตั้งแต่สถานศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น การที่โรงเรียนและสถานศึกษาเปิดกว้างยอมรับความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นจึงต้องรณรงค์ให้สังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของการเคารพสิทธิมนุษยชนและสิทธิ์ในการเลือกคู่ครอง โดยสรุปแล้วพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมของไทย เป็นก้าวสำคัญที่จะปกป้องเด็กที่เกิดจากครอบครัวเพศเดียวกัน กฎหมายฉบับนี้จะช่วยสร้างหลักประกันว่า เด็กกลุ่มนี้จะได้รับสิทธิ์และสวัสดิการเช่นเดียวกับเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีพ่อแม่ต่างเพศ