Skip to content
Home » กกพ. ชี้แจง กมธ.การพลังงาน ระบุใช้แนวทางลดต้นทุนเชื้อเพลิง

กกพ. ชี้แจง กมธ.การพลังงาน ระบุใช้แนวทางลดต้นทุนเชื้อเพลิง

กกพ. ชี้แจง กมธ.การพลังงาน ระบุใช้แนวทางลดต้นทุนเชื้อเพลิง เพื่อลดค่า Ft งวด ม.ค.-เม.ย.67 ลงกว่าที่เคยประกาศไปก่อนหน้า รอ กระทรวงพลังงานแถลงตัวเลขหลังได้ผลสรุป

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่รัฐสภา น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ สส.สุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในการประชุมเพื่อพิจารณาตามข้อร้องเรียนและข้อพิจารณาศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นเกี่ยวข้องกับการดำเนินการด้านไฟฟ้าของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกอบด้วย การขอรับทราบหลักเกณฑ์การปรับค่า Ft ขายปลีก สำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนม.ค. – เม.ย. 67 ,ข้อร้องเรียนการขอปรับการจ่ายเงินงบประมาณกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะสัดส่วนหมู่บ้าน และ ข้อร้องเรียนผลกระทบจากการรอนสิทธิ์ กรณีสายไฟฟ้าหรือโครงสร้างพื้นฐานของการไฟฟ้าพาดผ่านที่ดินของประชาชน โดยมีตัวแทนจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง

น.ส.วชิราภรณ์ ได้ขอให้ตัวแทนจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ชี้แจงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การปรับค่า Ft ขายปลีก สำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนม.ค.- เม.ย.2567 รวมถึงแนวทางการเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน เพื่อให้ กมธ.พิจารณา โดย น.ส.จีรวรรณ โรจน์เจริญชัย ผู้ช่วยเลขาธิการ กกพ. อธิบายว่า หลักการกำหนดค่า Ft ที่ใช้คำนวณค่าไฟฟ้ามาจากปัจจัยต้นทุนที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ ประกอบด้วย การประมาณการณ์การผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าของประเทศ ,ต้นทุนค่าเชื้อเพลิง,ต้นทุนจากการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยน โดยจะมีการกำหนดค่า Ft ในทุก 4 เดือน สำหรับการกำหนดค่าเอฟทีในรอบเดือน ม.ค. – เม.ย. 67 ก็ได้ดำเนินการหลักการดังกล่าว ตามต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะ ต้นทุนเชื้อเพลิงที่ถือเป็นอัตราส่วนมากที่สุด นอกจากนี้ ยังรวมถึงต้นทุนภาระหนี้ที่จะต้องใช้คืนให้กับ กฟผ. ทำให้ค่า Ft งวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 67 เท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วยดังกล่าว

สำหรับ แนวทางการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่ผ่านมา กกพ.ในฐานะที่จะต้องดูแลให้เกิดความสมดุลระหว่างประชาชน และหน่วยงานผู้ผลิตไฟฟ้าหลักของประเทศก็คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงได้มีการปรับจ่ายค่า Ft ให้เป็นไปในลักษณะขั้นบันไดเพื่อลดผลกระทบทั้งสองฝ่ายคือ ให้ประชาชนไม่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่แพงเกินไป ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลเรื่องสภาพคล่องของ กฟผ.ด้วย

น.ส.จีรวรรณ กล่าวต่อว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะช่วยเหลือประชาชนเพื่อหาปรับลดราคาค่า Ft ลงนั้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการประชุมสรุปแนวทางต่างๆ เช่น การปรับลดต้นทุนเชื้อเพลิงลง รวมทั้งการเสนอใช้งบกลาง 2,000 ล้านมาใช้ก็จะสามารถลดค่าเอฟทีลงได้ ส่วนตัวเลขเป็นเท่าใดนั้นจะต้องรอผลการประชุมของกระทรวงพลังงานที่จะมีการแถลงข่าวในเร็วๆ นี้ และเชื่อว่าจะสามารถทำให้ค่า Ft ลดลง และประชาชนจะได้ใช้ไฟในราคาที่ถูกลงตามนโยบายของรัฐบาลได้

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการชี้แจงของ กกพ. นส.วชิราภรณ์ ได้ขอให้ กกพ.ส่งข้อมูลรายละเอียดผลการหารือ และข้อสรุปต่างๆ มายัง กมธ.เพื่อเป็นข้อมูลในการศึกษาพิจารณาต่อไปด้วย

สำหรับ ข้อร้องเรียนทั้ง 2 ประเด็นได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้ร้องและ ตัวแทนจาก กกพ.ได้ข้อสรุปว่า กรณีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่แม่เมาะสัดส่วนหมู่บ้านนั้น กมธ.เสนอให้ทั้งสองฝ่ายกลับไปประชุมร่วมกัน เพื่อหาข้อสรุปจากประเด็นที่ยังเห็นไม่ตรงกัน โดยเฉพาะเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในการจัดสรรกองทุนที่ยังไม่ชัดเจน พร้อมตรวจสอบความถูกต้องเป็นธรรมในทุกขั้นตอนการดำเนินการ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา

ขณะที่ ประเด็นข้อร้องเรียนผลกระทบจากการรอนสิทธิ์ กรณีสายไฟฟ้าหรือโครงสร้างพื้นฐานของการไฟฟ้าพาดผ่านที่ดินของประชาชน กกพ.ก็ได้รับข้อเสนอจาก กมธ.ในการจัดการประชุมร่วมกันระหว่าง กกพ. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อหาแนวทางในการปรับเกณฑ์การจ่าย และจะได้แจ้งผลการดำเนินการมายัง กมธ.พลังงานต่อไป

น.ส.วชิราภรณ์ เปิดเผยภายหลังประชุมว่า การประชุมในวันนี้เป็นประเด็นสำคัญที่สังคมให้ความสนใจ เกี่ยวกับการปรับค่า Ft อาจจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าปรับขึ้น ซึ่ง กกพ.ก็ได้มาชี้แจงและให้ข้อมูลการดำเนินการต่าง ๆ ของกระทรวงพลังงานที่จะทำให้ค่า Ft ลดลงได้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อพี่น้องประชาชน ขกมธ.เองก็ได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ เกี่ยวกับแนวทางที่เป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาด้านพลังงานในระยะยาวต่อไปด้วย ส่วนประเด็นร้องเรียนต่างๆ กมธ.เห็นว่า ทั้งสองฝ่ายควรจะหารือเพื่อหาทางออกที่เป็นธรรมกับประชาชน โดยขอให้แจ้งผลสรุปมายัง กมธ.การพลังงานอีกครั้ง