กมธ.การพลังงาน เชิญ “สนผ.-กฟผ – กกพ.” หารือปรับแผนพีดีพีฉบับใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์พลังงานปัจจุบัน พร้อมหาแนวทางแก้อุปสรรคกฎเกณฑ์ที่ยุ่งยากในการจัดหาพลังงานหมุนเวียนภาคประชาชน
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร โดยมี น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ สส.สุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ เป็นประธานการประชุม มีการเชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลสถานการณ์พลังงานของประเทศไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะ “แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Power Development Plan : PDP)
น.ส.วชิราภรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ในการประชุมกรรมาธิการฯวันนี้ ได้มีการเชิญตัวแทนหน่วยงานด้านพลังงานของประเทศมาชี้แจง ประกอบด้วย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับพลังงาน มาร่วมให้ข้อมูล เพื่อรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศในปัจจุบัน และการเตรียมการรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะมีการใช้พลังงานมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP ฉบับใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง และแนวทางการสนับสนุน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่ถูกลง
ทั้งนี้ ในที่ประชุมกรรมาธิการฯได้สอบถามและตั้งข้อสังเกตในประเด็นต่างๆ อย่างกว้างขวาง เช่น การบริหารสัดส่วนต้นทุนการผลิตพลังงานในแผนพีดีพี ให้เหมาะสม หลังจากที่เปรียบเทียบแล้วพบว่าในต่างประเทศมีต้นทุนที่ถูกกว่า, ความยุ่งยาก ซับซ้อนของขั้นตอนการขออนุญาตจัดตั้งโซลาร์เซลจนกลายเป็นอุปสรรคในการส่งเสริมให้ประชาชนดำเนินการด้วยตัวเอง โดยเฉพาะ ใบ รง.4 ที่ติดขัดในระเบียบของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเห็นว่า ควรบูรณาการร่วมกันและหาแนวทางแก้ไขหลังติดล็อกมานานมาก รวมไปถึงแนวทางการลดราคาค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนให้มากกว่านี้ เป็นต้น โดยตัวแทนหน่วยงานได้ตอบถามต่างๆ พร้อมรับข้อเสนอของกรรมาธิการเพื่อไปศึกษาเพื่อหาแนวทางดำเนินการต่อไป
“การประชุมครั้งนี้เป็น 1 ใน 5 การประชุมที่คณะกรรมการฯจะได้เชิญหน่วยงานด้านพลังงานมาให้ข้อมูล ได้มีการหารืออย่างกว้างขวางในส่วนของแผน PDP ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการร่วมกันหาแนวทางบริหารจัดการเรื่องความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในอนาคต ส่วนการประชุมในครั้งต่อไป เป็นการประชุมหารือในอีก 4 ประเด็น ประกอบด้วย “แผนจัดหาก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan)” “แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)” “แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan : AEDP)” และ “แผนอนุรักษ์พลังงาน (Energy Efficiency Plan : EEP) โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมให้ข้อมูลกับกรรมาธิการฯ ซึ่งเรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่กำลังอยู่ในความสนใจของประชาชน โดยกรรมาธิการฯจะได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันหามาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในระยาวต่อไป” ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน กล่าว