“วิทยา แก้วภราดัย” สส.รวมไทยสร้างชาติ อภิปรายหนุนการทำงานของศาลปกครองต้องเป็นองค์กรสร้างหลักประกันให้ความเป็นธรรมกับประชาชนในการยืนรับมือกับอํานาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ที่รัฐสภา นายวิทยา แก้วภราดัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้อภิปรายในวาระรับทราบรายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครอง ว่าตนเคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการเรื่องการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีการพิจารณาในศาลปกครอง รวมทั้งเป็นประธานในการแก้ไขครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2554 วันนี้ได้อ่านสาสน์ของ นายชาญชัย แสวงศักดิ์ ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้ให้ไว้เมื่อ 27 กันยายน 2564 ที่ได้ตีพิมพ์ในวาสารรายงานนี้ คิดว่ามี 2 เรื่องที่น่าสนใจและเป็นปัญหาใจกลางของศาลปกครอง
ทั้งนี้ จากการที่ประธานศาลปกครองสูงสุดมองทะลุปัญหาในศาลปกครองดังกล่าว วันนี้ได้แก้กันหรือยัง แก้อย่างไร ประเด็นที่หนึ่งคือ 21 ปีของศาลปกครองมีคดีค้างศาลปกครอง รวมทั้งศาลปกครองชั้นต้น และศาลปกครองสูงสุด 181,053 คดี เรื่องที่สอง คือปัญหาความลักลั่นในการวินิจฉัยคดีปกครองที่มีลักษณะเดียวกัน บางครั้งคําวินิจฉัยของศาลปกครองชั้นต้นในคดีลักษณะเดียวกันคําพิพากษาออกไปคนละทางกัน บางครั้งในคดีประเภทเดียวกัน ทํานองเดียวกันในศาลปกครองสูงสุดก็ออกไปคนละแนวทางกัน ตนถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ในแนวทางการวินิจฉัย
นายวิทยา กล่าวว่า ประธานศาลปกครองสูงสุดมองออกว่า ควรมีแนวทางการแก้ไขปัญหา คือ คดีประเภทเดียวกัน แต่แนวทางวินิจฉัย ถ้ากระโดดกันมาก จะทําให้ความรู้สึกของประชาชนเกิดความไม่แน่ใจว่า ทําไมศาลไปคนละทางกัน ผิดกับศาลอาญาที่จะใช้บรรทัดฐานของศาลฎีกาเป็นแนวในการศึกษา ดังนั้นประธานศาลปกครองสูงสุดตั้งแนวทางไว้ว่า คดีที่มีเหตุการณ์การฟ้องคดีทํานองเดียวกันควรต้องเข้าองค์คณะใด
นายวิทยา กล่าวว่า ปัญหาคดีที่ค้างคาตนไม่แปลกใจเพราะดูจากบุคลากรของศาลปกครองรวมทั้งสิ้น 3,394 คน แบกรับคดีกว่า 9.8 คดี ตุลาการศาลปกครองชั้นต้นมีเพียง 200 ท่าน มีตุลาการศาลปกครองสูงสุด 59 ท่าน รวมทั้งหมดที่เป็นตุลาการ 259 ท่าน ทําคดีกว่า 9.8 คดี ในฐานะที่ตนก็เป็นนักกฎหมายเหมือนกันมองว่าเป็นการทำงานที่น่าพอใจและมหัศจรรย์
อย่างไรก็ตาม ความต้องการของประชาชนคือต้องการมากกว่านั้น นอกจากจะทําหน้าที่ตุลาการแล้ว ศาลปกครองเป็นผู้ไต่สวน เป็นผู้อํานวยความสะดวกกับประชาชนที่มาร้องกับศาลปกครองทั้งหมด โดยแทบจะไม่ต้องใช้ทนายความ ใช้ข้าราชการฝ่ายปกครองทําหน้าที่รับมือในศาล มีทั้งหมดแค่ 2,382 คน แต่ต้องเตรียมทุกอย่างก่อนเข้ากระบวนการของศาลเป็นผู้วินิจฉัย เมื่อตัวเลขข้าราชการทั้งศาลปกครองมีเท่านี้ มีตัวเลขคดีค้างอยู่มากก็ต่อว่าไม่ลง แต่ขอให้กําลังใจ แต่อยากทราบแนวทางของผู้มาชี้แจงทั้งหมดว่า หลังจากประธานศาลปกครองสูงสุดให้นโยบายแนวทางไว้แล้วนั้น จะทำอย่างไรต่อไป เพราะตุลาการศาลปกครองไม่ได้หามาง่าย ผู้ที่จะมาทำหน้าที่ศาลปกครองจะต้องเป็นผู้มีประสบการณ์และมีมาตรฐานสูง ไม่ใช่จบกฎหมายได้เนติบัณฑิตแล้ว จะมาเป็นได้ ต้องระดับอธิบดี หรือรองอธิบดี
ดังนั้นจะหาบุคลากรที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ได้อย่างไร มีแนวทางอะไรเพื่อรองรับกับจำนวนคดีที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน
สำหรับ ผลคดีที่ต่างกันในแต่ละศาล วันนี้ปรับปรุงไปถึงไหนแล้ว คดีประเภทพิพาทกันเรื่องที่ดินระหว่างรัฐกับชาวบ้าน พิพาทระหว่างวัดกับชาวบ้าน หรือพิพาทกับศาลปกครองกับชาวบ้าน ที่มีลักษณะคดีใกล้เคียงกัน แบ่งกลุ่มคดีเพื่อขึ้นไปยังคณะใดคณะหนึ่ง แต่ละคณะ ดําเนินการไปถึงไหนแล้ว และสุดท้ายคิดว่า แนวทางที่ท่านประธานศาลปกครองสูงสุดได้ให้ไว้จากความเข้าใจปัญหาทั้งหมด ถ้าทะลุปัญหานี้ได้ทั้งหมดทั้งบุคลากร และแนวทางในคําวินิจฉัยที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ศาลปกครองก็จะเป็นหลักประกันให้กับความเป็นธรรมกับประชาชนในการที่จะรับมือกับอํานาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม