“พีระพันธุ์” เล็งลดน้ำมันเบนซินแก๊ซโซฮอล์ 91 ให้ได้ 2.50 บาท/ลิตร เตรียมเสนอ ครม.ภายใน 2 สัปดาห์ พร้อมเตรียมยกร่างกม.ว่าด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเกษตรกรและชาวประมง ให้เกษตรได้ใช้น้ำมันราคาถูกเหมือนชาวประมงอย่างยั่งยืนภายในสิ้นปีนี้ พร้อมประกาศเดินหน้า “นโยบายกระทรวงพลังงาน เพื่อความมั่นคง เป็นธรรมและยั่งยืน สู่คนไทยทุกคน” แก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานตามนโยบาย สร้างความมั่นคงทางพลังงาน สร้างความเป็นธรรมในราคาพลังงาน และสร้างโอกาสในการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนให้ประชาชน โดยหวังให้กระทรวงพลังงานทำงานใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่บ้านพิบูลธรรม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน พร้อมด้วย นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ร่วมพบปะสนทนากับสื่อมวลชน เพื่อตอบข้อซักถามด้านพลังงานในหัวข้อ “นโยบายกระทรวงพลังงาน เพื่อความมั่นคง เป็นธรรมและยั่งยืน สู่คนไทยทุกคน” โดยมี นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ โฆษกรมว.พลังงาน เป็นผู้ดำเนินรายการท่ามกลางความสนใจจากสื่อมวลชนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานเป็นกระทรวงที่เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2545 ช่วงแรกต้องส่งเสริมการสร้างโรงกลั่นและปูพื้นฐานการบริการด้านธุรกิจซึ่งไม่อาจหลีกพ้นที่ภาคธุรกิจจะเข้ามามีบทบาท แต่ทุกวันนี้พลังงานของประเทศมีการพัฒนางานจนมีฐานรากที่แข็งแรงเพียงพอแล้วจนพลังงานกลายเป็นธุรกิจ แต่กฎหมายและถารกิจที่กำหนดไว้ตามกฎหมายต่างๆไม่เปลี่ยนแปลงภาพของกระทรวงพลังงานจึงเกี่ยวข้องกับประชาชนน้อยและถูกมองว่าดูแลแต่ในเรื่องของธุรกิจอย่างเดียว แต่สำหรับตนนั้นเห็นว่า กระทรวงพลังงานเกี่ยวข้องทั้งเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม และ ความมั่นคง ดังนั้นจึงคิดว่ามาถึงวันนี้จะต้องปรับภาพและบทบาทของกระทรวงพลังงานให้เป็นกระทรวงที่ดูแลสังคม และให้ประชาชนรู้สึกว่าเข้าถึงมากขึ้น ผู้บริหารทุกคนก็เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องทำต่อไป โดยจะใช้แนวคิด “พลังงานมั่นคง เพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืน สู่คนไทยทุกคน”
นายพีระพันธุ์ อธิบายแนวคิดดังกล่าวว่า ที่มาของคำว่า “พลังงานมั่นคง” ต้องย้อนกลับไปในอดีตเกี่ยวกับการพลังงานของไทย ตนใกล้ชิดกับเรื่องนี้เพราะบิดาเคยเป็นเจ้ากรมการพลังงานทหาร เป็นผู้อำนวยการองค์การเชื้อเพลิงที่วันนี้แปรสภาพมาเป็น ปตท. และเป็นคนที่ขุดน้ำมันคนแรกในประเทศไทย ได้ตั้งโรงกลั่นน้ำมันครั้งแรกที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 9 เสด็จฯ เปิดโรงกลั่นของกรมการพลังงานทหารแห่งนี้ เพราะรัฐบาลไทยเห็นว่าประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องมีพลังงานของตัวเอง เนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พลังงานของประเทศถูกนำเข้าจากต่างชาติ 100% ถ้าหากต่างชาติควบคุมพลังงานและไม่ส่งน้ำมันให้กับประเทศไทย ก็จะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศทันที ซึ่งสามารถขุดและกลั่นนำ้มันขึ้นมาใช้ให้กองทัพสร้างความมั่นคงในการป้องกันประเทศได้เป็นผลสำเร็จ และเหลือพอที่จะนำมาขายให้ประชาชนทั่วประเทศในราคาทึ่ถูกและเป็นธรรมกว่านำ้มันที่นำเข้ามาของบริษัทต่างชาติ ภายใต้ชื่อว่าปั๊มนำ้มันสามทหารซึ่งคือที่มาของคำที่สอง ส่วนคำที่สามคือคือว่า “ยั่งยืน” เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎเกณฑ์กติกาที่จะกำหนดให้พลังงานเป็นพลังงานเพื่อความมั่นคงของประเทศ ของเศรษฐกิจ การดำรงชีวิตของคน และมีราคาที่เหมาะสมเป็นธรรมอบ่างยั่งยืน
สำหรับ ประเด็นที่ถูกตั้งคำถามมากว่ากระทรวงพลังงานเอื้อกับกลุ่มทุนมากกว่าชาวบ้านนั้น ตนก็มีนโยบายสำคัญเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยเฉพาะเน้นเรื่องของการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายด้านพลังงาน เพราะที่ผ่านมาไม่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของกระทรวงพลังงานมานานมาก ซึ่งได้หารือกับผู้บริหารกระทรวงหลายคนทุกคนก็เห็นด้วยว่า ควรมีการปรับแก้เรื่องกฎระเบียบ กฎหม่ายต่างๆ เพราะหลายหน่วยงานอยากทำอะไรอีกหลายอย่างแต่ว่าบทบาทหน้าที่ที่กฎหมายให้อำนาจไม่ได้เปิดช่องให้ทำได้ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่เคยถูกเขียนไว้ตั้งแต่เริ่มแรกของประเทศเพื่อลงหลักปักฐานจึงมีเรื่องธุรกิจน้ำมันเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ที่ผ่านมาเป็นการใช้กฎหมายที่อาจจะเชื่อมโยงกับกลุ่มธุรกิจพลังงานทั้งไทยและต่างชาติ แต่เมื่อถึงวันนี้หลายอย่างเปลี่ยนไป จึงควรจะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ให้ทันสมัยขึ้นที่สำคัญควรจะเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจกระทรวงพลังงานดูแลประชาชนได้มากขึ้นด้วย
รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ยังตอบคำถามเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ในการทำงานและแผนงานที่จะทำต่อไปด้วยว่ามีอยู่ 3 ระยะคือ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยระยะสั้นคือ เรื่องการแก้โครงสร้างพลังงาน ซึ่งเป็นเรื่องยากเพราะเป็นโครงสร้างที่ใช้มานานทำให้เวลาจะแก้ไขจะติดปัญหาหลายเรื่อง อย่างไรก็ตามก่อนที่จะมาเป็น รมว.พลังงาน ตนก็มีนโยบายไว้แล้วเป็นนโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่จะต้องปรับราคาพลังงานลงให้กับประชาชน และโชคดีที่ตรงกับแนวทางของนายกรัฐมนตรีทำให้กลายเป็นนโยบายของรัฐบาล
ทั้งนี้ จะต้องทำให้ทันทีในการลดราคาพลังงานเพื่อคลายความเดือดร้อนให้กับประชาชนและสามารถทำได้สำเร็จในระยะสั้น ส่วนระยะกลางคือการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของกระทรวงพลังงานและทำให้เกิดความเป็นธรรมในโครงสร้างพลังงานเพื่อรองรับความมั่นคงของประเทศ ทั้งความมั่นคงทางด้านความปลอดภัยของประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตของประชาชน ในขณะที่แผนระยะยาวคือเตรียมการทั้งทางด้านการบริหารกระทรวงทั้งด้านของกฎหมายที่จะต้องออกมารองรับทำให้นโยบายทั้งหมดมั่นคงเป็นธรรมยั่งยืน สามารถเดินหน้าต่อไปได้ในระยะยาว
นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า เนื่องจากกระทรวงพลังงานเป็นกระทรวงที่ทำงานเชิงวิชาการเพื่อสนับสนุนเป็นส่วนใหญ่ ทำให้มีงบประมาณไม่มากเท่ากับกระทรวงอื่นๆ แต่มีภารกิจที่จะต้องทำมาก แต่โชคดีที่กระทรวงมีบุคลากรที่มีคุณภาพทุกคน มีความรู้มีความสามารถและความตั้งใจ ถือเป็นจุดเริ่มต้นดี ดังนั้นจึงมั่นใจว่านโยบายต่างๆ ที่ตนกล่าวไปแล้วจะสามารถเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จได้
อย่างไรก็ตาม ต้องมีอีกหลายปัจจัยเข้ามาช่วยมาประกอบเพื่อเดินหน้าให้กระทรวงพลังงานให้เป็นกระทรวงที่ดีทำงานให้ตรงตามเป้าหมายได้ต้องอาศัยกฎเกณฑ์กติกา และแม้ว่าจะไม่มีงบประมาณมากนัก แต่ตนคิดว่าการทำงานของกระทรวงไม่ได้อยู่ที่เงิน แต่อยู่ที่ความตั้งใจถ้าเราตั้งใจจะทำในสิ่งที่ตนกล่าวมาทั้งหมดก็เชื่อว่าจะทำให้สำเร็จได้
นายพีระพันธุ์ ยังตอบคำถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับการลดราคาน้ำมันเบนซินว่า ตนมีแนวคิดที่จะทำอยู่แล้ว เพราะเมื่อลดราคาน้ำมันดีเซลไปแล้วเหลือลิตรละ 29.94 บาท ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566 โดยลดการจัดเก็บภาษีดีเซลลงลิตรละ 2.50 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน เข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ควรจะลดราคาน้ำมันเบนซินด้วยเพื่อความเป็นธรรม โดยเห็นว่า ควรลดลงเท่ากับดีเซลในกรอบเวลาที่เท่ากันคือ 3 เดือน
“แต่การที่จะลดราคาน้ำมันเบนซิน (แก๊สโซฮอล์ 91) ลงลิตรละ 2.50 บาทนั้นมีข้อจำกัดอยู่ที่เรื่องของโครงสร้างราคา ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ที่อาจจะยังต้องแก้ไขต่อไปสิ่งที่ทำได้เร็วที่สุด ตอนนี้ก็คือการให้รัฐรับภาระแทนประชาชนด้วยการลดรายได้ลง เพื่อลดราคาน้ำมันเป็นการดำเนินการเฉพาะหน้า ซึ่งเรื่องนี้จะได้มีการประชุมเพื่อหาข้อสรุปให้ได้ภายใน 1 สัปดาห์ ว่าจะใช้วิธีลดภาษี หรือใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ต้องบอกว่า ไม่สามารถจะทำได้ทั้งหมด เช่น กรณีของดีเซลก็ลดได้เฉพาะตัวที่ต่ำสุดก่อน ในส่วนของเบนซินจะเป็นแก๊สโซฮออล์ 91 จากสถิติพบว่ามีกลุ่มผู้มีรายได้น้อยใช้อยู่ ส่วนการดำเนินการระยะยาวยังต้องพิจารณาเรื่องส่วนประกอบของโครงสร้างราคาน้ำมันว่า จะสามารถปรับลดตรงไหนลงได้ ภายใต้ความเป็นธรรมของทุกๆ ฝ่าย ซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญและกำชัดให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนตั้งแต่แรกแล้ว”รมว.พลังงานกล่าว
รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน กล่าวด้วยว่า สำหรับการช่วยเหลือน้ำมันราคาพิเศษให้กับกลุ่มเกษตรกรนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างที่ตนกำลังยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเกษตรกรและชาวประมง เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรและชาวประมงได้ใช้น้ำมันในการประกอยอาชีพในราคาตำ่อย่างยั่งยืนในลักษณะคล้ายน้ำมันเขียวของชาวประมงในปัจจุบัน คาดว่า จะมีความชัดเจนเร็วๆนี้ แต่จะอยู่ที่ราคาเท่าใดนั้นจะต้องพิจารณาในรายละเอียดต่างๆ เช่น วงเงินอุดหนุน จำนวนเกษตรกร แต่จะต้องถูกกว่าราคาขายปลีกทั่วไป จากนั้นจะได้เสนอเข้าที่ประชุม ครม. เห็นชอบ และนำเสนอเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป เพื่อทำให้ทั้งเกษตรกรและชาวประมงได้ใช้น้ำมันราคาถูกโดยเร็วที่สุด