Skip to content
Home » กมธ.พลังงานเชิญหลายหน่วยงานมาให้ข้อมูลระบบพลังงานของประเทศ

กมธ.พลังงานเชิญหลายหน่วยงานมาให้ข้อมูลระบบพลังงานของประเทศ

กมธ.พลังงานเชิญหลายหน่วยงานของกระทรวงพลังงานมาให้ข้อมูลภาพรวมระบบพลังงานของประเทศ สถานการณ์พลังงานในปัจจุบัน และมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร โดยมี นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สส.สุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน เป็นประธานการประชุม โดยเชิญผู้บริหารของกระทรวงพลังงานมาชี้แจง นำโดย นายวีรพันธ์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน และผู้บริหารจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรมธุรกิจพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มาชี้แจงภาพรวมการบริหารงานด้านพลังงานของกระทรวงพลังงาน

นางสาววชิราภรณ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า จากสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ซึ่งหวั่นว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อพลังงานของโลก คณะกรรมาธิการฯ ทุกคนรู้สึกห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้เชิญผู้เกี่ยวข้องของกระทรวงพลังงานมาชี้แจงนโยบายพลังงานและสถานการณ์พลังงานในประเด็นเกี่ยวกับภาพรวมระบบพลังงานของประเทศ สถานการณ์พลังงานในปัจจุบัน รวมถึงการวางแผนรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ มีประเด็นการพิจารณาที่สำคัญของแต่ละหน่วยงานคือ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับภาพรวมพลังงานของประเทศไทย การจัดหาและการใช้น้ำมันของประเทศไทย การจัดหาและการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศไทย การจัดหาและการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆการดำเนินการตามแผน PDP (แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย) แผนก๊าซ การดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดระยะ ปานกลาง การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน การดำเนินการตามกรอบแผนพลังงานชาติ การทบทวนโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง

นอกจากนั้น กรมธุรกิจพลังงาน ได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการบริหารน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าในช่วงวิกฤติราคาพลังงาน การยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจใหม่ การส่งเสริมการใช้งานระบบขนส่งน้ำมันทางท่อ การส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าในสถานีบริการ ขณะที่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หน่วยงานได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการสนับสนุนการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยน ปรับปรุง เครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงานการช่วยเหลือให้ชุมชนพื้นที่ห่างไกลให้มีไฟฟ้าใช้ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) การออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน การผลักดันมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) สำหรับหน่วยงานภาครัฐ การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อนจากพืชพลังงาน

ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน กล่าวว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ หน่วยงานได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์การผลิตปิโตรเลียม ปริมาณสำรองปิโตรเลียมของไทย การจัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมทั้งจากแหล่งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน การให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 24 การเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 25 รายได้จากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน 2566 การเจรจาเกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิเหลื่อมล้ำในไหล่ทวีปไทย – กัมพูชา และการดำเนินงานพัฒนาเทคโนโลยี การดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน

อีกทั้งในประเด็นความไม่สงบในสงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่อาจบานปลายส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานโลกนั้น ทางกระทรวงพลังงานได้แจ้งในที่ประชุมว่า ได้วางแผนรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้ให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในการดำเนินการแก่หน่วยงานต่าง ๆ และจะได้ร่วมกันผลักดันนโยบายของกระทรวงพลังงานและทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการบริหารจัดการพลังงานของประเทศต่อไป