Skip to content
Home » ศาสตรา ศรีปาน เสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ปัญหาราคากุ้ง

ศาสตรา ศรีปาน เสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ปัญหาราคากุ้ง

ศาสตรา ศรีปาน สส.สงขลา รวมไทยสร้างชาติอภิปรายเสนอให้สภาฯตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาแก้ปัญหาราคากุ้งตกต่ำ ย้ำการแก้ปัญหาต้องยกเป็นวาระแห่งชาติเหมือนอินเดีย และรณรงค์ให้คนในประเทศหันมากินกุ้ง

เมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่รัฐสภา นายสัญญา นิลสุพรรณ สส.นครสวรรค์ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้เสนอญัตติขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เลื่อนระเบียบวาระตามข้อบังคับที่ 54 ( 2 ) จากเรื่องค้างการพิจารณาในวาระที่ 5 จากการประชุมสภาฯ ครั้งที่ผ่านมาขึ้นมาพิจารณาก่อนวาระอื่น โดยมี สมาชิกรับรองถูกต้อง

จากนั้น นายศาสตรา ศรีปาน สส.สงขลา พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้อภิปรายเสนอขอให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทาง การแก้ไขปัญหากุ้งราคาตกต่ำ ด้วยได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งขนาดเล็ก และขนาดย่อมว่า กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ในปัญหาราคากุ้งที่ตกต่ำอย่างรวดเร็ว สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่ ผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ ได้อนุมัตินำเข้ากุ้งจากประเทศเอกวาดอร์ และอินเดียเข้ามา ประกอบกับราคาน้ำมัน ต้นทุนพลังงานต่าง ๆ สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรต้องแบกภาระ ต้นทุนดังกล่าวอีกทั้งยังมีโรคระบาดในกุ้ง รวมถึงการประกันราคาขั้นต่ำของห้องเย็นที่ตั้งไว้ เท่ากับราคาต้นทุนการผลิต ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น เป็นการบังคับให้เกษตรกรขายกุ้งในราคาทุน

ทั้งนี้ ยังมีปัญหาต้นทุนเรื่องค่าอาหารกุ้ง ค่าไฟฟ้า ส่งผลกระทบต่อกำไรของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง หากภาครัฐไม่ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ปัญหานี้จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงขอให้สภาฯได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยอย่างเร่งด่วน

นายศาสตรา กล่าวว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมาฟังการอภิปรายด้วยจะได้รับรู้ปัญหาผู้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ วันก่อนเห็นร.อ.ธรรมนัสไปที่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไปแก้ปัญหาเรื่องมังคุดราคาตกต่ำ ก็ต้องขอขอบคุณแทนเกษตรกร ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชด้วย แต่ปัญหาราคากุ้งตกต่ำ ไม่ใช่แค่ตกต่ำมากอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาตกต่ำยาวนานในรอบ 20 ปี วันนี้ต้องเรียนว่า น้ำตาเกษตรกรชาวไทยหลั่งไหล

สส.สงขลา พรรครวมไทยสร้างชาติอภิปรายว่า ปัญหาราคากุ้งตกต่ำเป็นปัญหาใหญ่และยาวนานเกิดมากจาก 3 สถานการณ์ กุ้งไทยในอดีตประเทศไทยเป็นเบอร์ 1 ของโลกกระทั่งโดนคู่แข่งอย่างเวียดนามแซงหน้า มาในปี 2545 ก็เกิดโรคระบาด ทำให้กุ้งตายไว ประกอบกับแผนของทางรัฐยังไม่ชัดเจน ทำให้ผลิตภัณฑ์ผลผลิตกุ้งไทยตกต่ำ กระทั่งมาถึงสถานการณ์ที่ 3 เมื่อกุ้งไทยเกิดโรคระบาดก็มีการนำเข้ากุ้งมาเพื่อแปรรูป นำเข้ามาจากประเทศเอกวาดอร์มากที่สุดรวมกว่า 51 % นำเข้ากุ้งมาแช่แข็งแล้วแปรรูปส่งออก นี่คือ 3 สถานการณ์กุ้งในอดีต

นายศาสตรา กล่าวต่อว่า จาก 3 สถานการณ์ทำให้ราคากุ้งตกต่ำเป็นอย่างมาก ช่วงครึ่งปี 2566 นำเข้ากุ้งจากประเทศเอกวาดอร์มากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงประเทศไทยก็ได้ผลิตเพิ่มขึ้น 8.18% จำนวน 100,600 ตัน ประกอบกับสหรัฐอเมริกาชะลอการนำเข้ากุ้งจากไทย จากภาวะสงครามของรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ไทยเกิดปัญหากุ้งล้นตลาด

“ผมขอเสนอ 3 วิธีแก้ปัญหาควบคุมราคาตุ้กุ้งตกต่ำคือ 1.เรื่องต้นทุนต้องควบคุม วันนี้เกษตรกรคนเลี้ยงกุ้งประสบปัญหาเรื่องค่าน้ำค่าไฟค่าน้ำมัน ต้นทุนการผลิตกุ้งสูงมากและสูงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2562 ค่าไฟ ค่าอาหารกุ้ง เฉลี่ยตันละ 38,000 บาท ปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 42,000 บาท เพิ่มขึ้น 10.52% ค่าไฟเพิ่มขึ้น 43.43% ยังไม่รวมปูนขาว ยากุ้งที่มีราคาสูงขึ้นด้วย ดังนั้นในวันนี้รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องควบคุมต้นทุนก่อน”นายศาสตรากล่าว

นายศาสตรา กล่าวด้วยว่า จากการลงพื้นที่ไปพบเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในจังหวัดสงขลาทุกคนบ่นค่าไฟแพงต้นทุนแพง ค่าน้ำมันแพง 1.จึงขอให้กระทรวงพลังงานเข้ามาดูแลเรื่องนี้ 2.ต้องควบคุมราคากลาง อยากให้ควบคุมคุณภาพและควบคุมราคาด้วย ให้กรมประมงเข้ามาดูเรื่องมาตรฐานต่าง ๆ ความจริงกุ้งไทยมีมาตรฐานสูง มีการแจ้งเกิดแจ้งตาย ช่วยควบคุมราคาด้วย 3.ควบคุมการนำเข้า รัฐบาลไม่มีเพดานควบคุมการนำเข้าจากต่างประเทศเลย วันนี้กุ้งไทย มีจำนวนมากขึ้น แต่ส่งออกได้น้อยกุ้งมีราคาตกต่ำ ดังนั้นการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศต้องหยุดทันที เพราะกุ้งทุกตัวที่นำเข้ามา ปนเปื้อนน้ำตาของเกษตรกรชาวไทย ฉะนั้น ต้องหยุดนำเข้ากุ้งต่างประเทศเพื่อให้กุ้งไทยลืมตาอ้าปากได้

“ผมขอเสนอให้การแก้ปัญหากุ้งไทยเป็นวาระแห่งชาติ เหมือนประเทศอินเดีย ที่เขาได้ประกาศให้ปัญหาราคากุ้งตกต่ำเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ให้หรือตาอ้าปากได้ ประชาชนฝากมาว่า ขอให้รัฐช่วยเข้าไปให้ความรู้ผู้เลี้ยงกุ้งด้วย ช่วยเหลือนวัตกรรมการขนย้ายการเลี้ยง ให้เกษตรกรมีเทคโนโลยีใหม่ ๆรวมถึงต้องรณรงค์ให้ประชาชนหันมาบริโภคกุ้ง วันนี้คนไทยกินกุ้งตก 1 กิโลกรัมต่อคนต่อปีประมาณ 7 หมื่นตัน ถ้ามีการรณรงค์ให้กินกุ้ง 2 กิโลกรัมต่อคนต่อปีก็เท่ากับ 1.4 แสนตันต่อคนต่อปี นี่คือตัวอย่างที่สามารถช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้ขายกุ้งได้มากขึ้น คนบริโภคได้มากขึ้น ผมจึงขอเสนอญัตติด่วนให้ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาเกี่ยวกับราคากุ้งตกต่ำและจะขอยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่อยู่ในที่ประชุมด้วย”สส.สงขลา พรรครวมไทยสร้างชาติกล่าว