อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติฝากรัฐบาลใหม่นำปัญหาหนี้สินของเกษตรกรมาเป็นวาระแห่งชาติ เร่งแก้ปัญหาหนี้สินอย่างจริงจังเพื่อให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี เขตเลือกตั้งที่ 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) อภิปรายระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณารายงานประจำปีของกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ว่า เวลานี้เกษตรกรไทยมีปัญหาหนี้สินจำนวนมาก รวมถึงเกษตรปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และทำการประมง ใน จ.ราชบุรี เกษตรกรที่ปลูกพืชส่วนใหญ่เป็นการปลูกข้าวและอ้อย ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ได้แก่ วัวนม มีสหกรณ์วัวนมหนองโพ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งดูแลเกษตรกรที่เลี้ยงวัวนม เป็นอาชีพพระราชทานที่ชาว จ.ราชบุรีภาคภูมิใจ
ทั้งนี้ ยังมีการเลี้ยววัวเนื้อ สุกร เลี้ยงไก่ และที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรีก็มีอาชีพประมง มีการเลี้ยงปลาสวยงาม ถือเป็นเกษตรกรอีกลุ่มหนึ่ง มีการเลี้ยงปลากระชัง เลี้ยงกุ้ง โดยเฉพาะที่ อ.บางแพ เลี้ยงกุ้งจำนวนมาก ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่มีหนี้สินครัวเรือนจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม สำนักงานสถิติได้ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันหนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 4.5 แสนบาทต่อครัวเรือน 57 % ของครัวเรือนเกินศักยภาพที่เกษตรกรจะใช้หนี้ได้ ถือว่าสูงมาก 43 % ยังพอจะมีรายได้ สาเหตุที่เกษตรกรมีศักยภาพในการใช้หนี้ต่ำมาจาก 3 ปัญหาคือ 1.รายได้น้อยเนื่องจากราคาพืชผลทางการเกษตร และราคาสินค้าปศุสัตว์ต่ำ 2.รายได้ไม่สม่ำเสมอ ปีนี้อาจจะมีรายได้สูง ปีต่อไปอาจจะได้รายได้ต่ำ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถจัดการเรื่องรายได้ และค่าใช้จ่ายได้ และ 3.เรื่องรายได้ผันผวน จากเรื่องภัยพิบัติ เช่นที่ อ.บ้านโป่ง เจอปัญหาภัยแล้ง มีปัญหาเรื่องการทำนาปีไม่ได้ผลผลิต เพราะฝนไม่ตกตามฤดูกาล ทั้งยังมีปัญหาน้ำท่วม ปัญหาโรคระบาด โดยเกษตรกรไทยพบกับปัญหาเหล่านี้ในทุกสาขาอาชีพ
นายอัครเดช กล่าวว่า ล่าสุดผู้เลี้ยงปลาสวยงามพบปัญหาด้านกฎหมาย จากที่เคยเลี้ยงปลาเรืองแสงได้ แต่ต่อมากรมประมงได้ออกกฎหมายว่าไม่สามารถเลี้ยงปลาเรืองแสงได้ มีปัญหาเรื่องจีเอ็มโอ ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาจากกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้ง 3 สาเหตุดังกล่าวเป็นปัญหาเรื้อรังทำให้เกษตรกรไทยมีหนี้สะสมจำนวนมากทำให้เกินศักยภาพจะชำระหนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ที่กู้จากธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารของรัฐ ปัญหาเหล่านี้รัฐต้องเข้าไปช่วยแก้ไข โดยเฉพาะกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรก็เป็นหนึ่งกองทุนตามกลไกของรัฐที่จะเข้ามาช่วยเหลือเรื่องเงินทุนหมุนเวียน
นอกจากนี้ ยังมีกองทุนอีกหลายกองทุน เช่น กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร,กองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร รัฐบาลที่ผ่านมายังมีโครงการประกันรายได้ให้เกษตรกรได้ลืมตาอ้าปากได้ คือโครงการประกันรายได้ข้าว พืช 5 ชนิด เช่น ยางพารา ,ปาล์ม ชทั้ง 5 ชนิดรัฐบาลได้ใช้เงินไปจำนวนมากในการประกันรายได้ให้กับเกษตรกร ถือว่าเป็นอีกกลไกหนึ่ง ดังนั้นกองทุนสงเคราะห์เกษตรเป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะมาช่วยเหลือเกษตรกร
“สิ่งที่ผมเห็นในรายงานพบว่า งบประมาณน้อยมากดูจากทุน 9 พันล้านบาท ทรัพย์สินกว่า 6 พันล้าน ถือว่าน้อยมากถ้าเทียบกับเกษตรกรในประเทศไทยที่มีอยู่ และเทียบกับหนี้ของเกษตรกรที่มีอยู่ เราควรจะทำอย่างไรในการปลดหนี้ให้กับเกษตรกร เป็นไปได้หรือไม่ถ้าเราจะรวมกองทุนต่าง ๆ ที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็น กองทุนฟื้นฟูเกษตรกร,กองทุนพัฒนาเกษตรกร กองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โครงการต่าง ๆมารวมกัน แล้วทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาหนี้สะสมของเกษตรกรอย่างจริงจัง จึงขอฝากผ่านไปยังรัฐบาลใหม่ที่จะมีขึ้นให้พิจารณาแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร และคิดว่าจะต้องเป็นวาระแห่งชาติ รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาจะต้องทำเรื่องนี้อย่างเป็นจริงเป็นจังเพื่อให้เกษตรกรลืมหน้าอ้าปากได้ ไม่ใช่ว่ามีหลายกองทุน แต่ละกองทุนถ้าเทียบแล้วเกษตรกรมีหนี้เป็นแสนล้าน แต่กองทุนมีเงินเพียงไม่กี่พันล้านก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างจริงจัง จึงอยากฝากเรื่องนี้ไปยังรัฐบาลใหม่ด้วย”สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้าวชาติกล่าว