สส.สุราษฎร์ธานี รวมไทยสร้างชาติอภิปรายเรียกร้องให้หลายหน่วยงานร่วมมือกันหาทางแก้สารพัดปัญหาให้กับเมืองท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลก “เกาะสมุย–เกาะพะงัน” ทั้งความปลอดภัย ขาดแคลนน้ำ-ไฟฟ้า และฟื้นฟูธรรมชาติที่เสื่อมโทรม เพื่อดึงนึกท่องเที่ยวกลับเข้ามาสร้างเม็ดเงินให้ประเทศ
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่รัฐสภา ระหว่างมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 6 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม นายพิพิธ รัตนรักษ์ สส.สุราษฎร์ธานี เขตเลือกตั้งที่ 2 พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้หารือระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 6 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย อำเภอเกาะพะงัน และ อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภาพรวมในปี 2561 มีนักท่องเที่ยวกว่า 6 ล้านคน ปี 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวได้ลดลงจากสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 เหลือกว่า 1,800,000 คน ในปี 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางกลับเข้ามากว่า 3.6 ล้านคน
ทั้งนี้ รายได้จากการเก็บภาษีเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในอำเภอเกาะสมุย อำเภอเกาะพะงัน และ 17 อำเภอในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ปี 2561 มีรายได้กว่า 1.2 แสนล้านบาท ในปี 2563 มีรายได้ลดลงจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงเหลือกว่า 2 หมื่นล้านบาท ในปี 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นทำให้ทำให้เก็บภาษีได้เพิ่มกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท คือสัดส่วนของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในจังหวัดสุราษฎร์ธานี
อย่างไรก็ตาม จากการที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา ก็มีปัญหาต่าง ๆตามมาจึงอยากนำปัญหามาแจ้งให้ทางประธานสภาฯทราบคือ 1 ปัญหาเรื่องคมนาคม ทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวเกิดความไว้วางใจเมื่อมาท่องเที่ยวสร้างภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยว ปัญหาที่ 2 คือการขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ และการเข้าถึงระบบไฟฟ้าล้วนถือว่าเป็นความเดือดร้อน ส่วนประเด็นที่ 3 เรื่องความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ควรมีการปรับปรุง ออกแบบให้เหมาะสมกับเมืองท่องเที่ยว ส่วนประเด็นสุดท้ายว่า ต้องยอมรับอำเภอดอนสัก อำเภอกาญจนดิษฐ์ มีผลผลิตที่เพิ่มมูลค่าได้แต่ยังขาดการต่อยอด
นายพิพิธ อภิปรายย้ำว่า การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวและการบูรณาการร่วมกับชุมชน การกระจายรายได้ การสร้างมูลค่าให้กับผลผลิตที่มีประสิทธิภาพ ส่วนราชการต่าง ๆ ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องร่วมมือกันพัฒนาหาทางแก้ไขให้กับพื้นที่ดังกล่าว เพราะถือเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนในพื้นที่เดือดร้อนมาก