สส.รวมไทยสร้างชาติ “สัญญา นิลสุพรรณ-ปรเมษฐ์ จินา”อภิปรายเสนอทางออกให้ป.ป.ส.นำไปแก้ไขปัญหายาเสพติดและผู้เสพให้หมดไปจากสังคมไทย หนุนเปลี่ยนวิธีจัดการใหม่วิธีเดิมทำมาหลายสิบปีไม่ได้ผล
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม นายสัญญา นิลสุพรรณ สส.นครสวรรค์ เขตเลือกตั้งที่ 3 พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อภิปรายระหว่างพิจารณารายงานของป.ป.ส.ที่เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า ปัญหายาเสพติดไม่ใช่เป็นวาระแห่งชาติ แต่ต้องเป็นวาระของโลก เพราะสะสมมานานหลายปี หลายมาตรการเราทำจากใหญ่มาเล็กตลอดแต่ไม่ได้ผล ตนอยากให้เริ่มจากเล็กไปใหญ่ดูบ้าง เวลาตนลงในพื้นที่จะพบเห็นปัญหาเกือบทุกครั้ง มีชาวบ้านมาปรึกษาลูกหลานติดยาเสพติดจำนวนมาก
นายสัญญา กล่าวด้วยว่า ปัญหายาเสพติดในวัยรุ่น เราบอกเขาก็ไม่ค่อยฟังดังนั้นเราต้องสร้างต้นกล้าคือตั้งแต่เด็กระดับชั้นประถม ป.ป.ส.ต้องเข้าไปให้ความรู้ถึงโทษของยาเสพติดในแต่ละประเภท บางคนเรียนดีแต่พอเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นเพื่อนชักชวนก็เสียคน ป.ป.ส.อาจจะบูรณาการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหรือกระทรวงศึกษาธิการมาร่วมกันป้องกันเยาวชนที่จะโตขึ้นมา การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุหลังจากติดยาเสพติดไปแล้วคงไม่ได้ผล ดังนั้นเราต้องมาเริ่มสร้างต้นกล้าที่จะเติบโตขึ้นมาในสังคมจะดีไหม
ทั้งนี้ อยากให้ป.ป.ส.จัดงบประมาณในส่วนนี้มาช่วยกันส่งเสริมในด้านการศึกษาทำให้ต้นกล้าที่เติบโตขึ้นมาอย่างแข็งแรง
ขณะที่ นายปรเมษฐ์ จินา สส.สุราษฎร์ธานี เขตเลือกตั้งที่ 5 พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อภิปรายว่า อยากให้ปรับรูปแบบการแก้ปัญหายาเสพติดใหม่ หลายกิจกรรมที่ทำมากว่า 30 ปีเราทำแบบเดิมมาโดยตลอดไม่ได้ผล ถ้าเราหานวัตกรรมที่เหมาะสมมาแก้ไขปรับปรุงในแต่ละพื้นที่ได้จะเป็นการดีในแก้ไขปัญหายาเสพติด แต่คงไม่ง่าย เพราะปัญหาการพนัน ปัญหายาเสพติด ปัญหาโสเภณีอยู่คู่กับสังคมมานานนาน ดังนั้นจะทำอย่างไรถึงจะควบคุมไม่ให้เป็นพิษเป็นภัยกับลูกหลานของเรา
ทั้งนี้ มาตรการที่ผ่านมาทั้งมาตรการหลัก มาตรการป้องกัน มาตรการปราบปราม มาตรการบำบัดรักษา เราทำมาหมด แต่จุดอ่อนของทางราชการคือรองบประมาณและแนวปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ถ้าไปแจ้งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ที่ปราบปรามก็จะมีเรื่องผลประโยชน์มีการยัดยาทำให้เกิดความกังวล ปัญหาจึงมาลงที่สส.รับปัญหามาเพื่อปรับปรุงรูปแบบการแก้ปัญหาให้เหมาะสม
นายปรเมษฐ์ อภิปรายว่า ถ้าเรามาดูเรื่องบำบัดที่ผ่านมาเราจะใช้วิธีการแจ้งไปที่ผู้นำในพื้นที่โดยเฉพาะนายอำเภอให้นำผู้ติดยามาเข้าบำบัดค่ายละ 50 คน แต่ด้วยระบบการบังคับบัญชาจึงต้องหาคนมาอบรมให้ได้ครบ ทำให้มีการนำผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดและนำผู้มีปัญหาทางจิตมาอบรมร่วมกันไม่มีการแยกแยะ ไม่มีการคัดกรอง คนที่จะมาเข้าค่ายอบรม ทั้งที่ผู้เสพ ผู้ติดและผู้มีปัญหาทางจิตการรักษาจะแตกต่างกัน พื้นที่บางแห่งไม่มีโรงพยาบาลจิตเวช จะให้รักษาโรคทางกายก่อนที่จะมารักษาโรคทางจิตทำให้ผู้ปกครองของผู้ติดยาเกิดความสับสน ดังนั้นถ้ามีการสนับสนุนงบแบบล่ำซำให้แต่ละพื้นที่ไปพิจารณาเองว่าจะทำรูปแบบไหนจะเหมาะสม จะเกิดผลมากกว่า
“การแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ป.ป.ส.ควรไปดูระเบียบที่ให้เอกชนสามารถเข้ามาร่วมแก้ปัญหาได้ สนับสนุนเอกชนต้องมองที่คุณภาพอย่ามองเป้าหมายหรือปริมาณเพียงอย่างเดียว เช่น เข้าค่าย 9 วัน 8 คืนที่ทำมาไม่น้อยกว่า 30 ปี ก็ยังเป็นอยู่เช่นนี้ ถ้าเราสามารถเปิดโอกาส หรือกิจกรรมแบบ TO BE NUMBER ONE ก็อยากให้สนับสนุนงบประมาณ อีกอย่างที่ประสบปัญหาคือชุดตรวจยาเสพติดป.ป.ส.ต้องสนับสนุน ตำรวจและเรือนจำสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน”สส.รวมไทยสร้างชาติกล่าว