กมธ.อุตสาหกรรมฯ เร่งหารือคืบหน้าไฟไหม้ คาดเหตุ“ระยอง-อยุธยา” เป็นเหตุวางเพลิง ต้องเร่งดำเนินคดีผู้ทำผิด
เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2567 ที่รัฐสภา นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม (กมธ.) สส.ราชบุรี เขต 4 และโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เปิดเผยถึงกรณีกากแคดเมียมที่จะมีการพิจารณาในที่ประชุม กมธ. ว่า วันนี้ กมธ.อุตสาหกรรม ได้เชิญปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรมโรงงาน กรมเหมืองแร่ กรมควบคุมมลพิษ ตลอดจน ปปง. , ป.ป.ท. ร่วมหารือว่า มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง ในการดำเนินคดีกับผู้ที่ละเมิดกฎหมาย ทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้ประกอบการ เนื่องจากการประชุมครั้งที่แล้วเกี่ยวกับการขนย้ายกากแคดเมียม ส่วนวันนี้จะติดตามความคืบหน้าในการขนย้ายกากแคดเมียมว่าแล้วเสร็จกี่จุด จำนวนกี่ตัน
นายอัครเดช กล่าวต่อว่า สำหรับเบื้องต้นในกรุงเทพฯ มีการขนย้ายเสร็จแล้ว จึงจะสอบถามคืบหน้าว่าที่ จ.สมุทรสาคร จ.ระยอง มีการขนย้ายแล้วเสร็จหรือไม่อย่างไร
สำหรับกรณีเรื่องใบอนุญาตของโรงงานนั้น ประธานกมธ.การอุตสาหกรรม กล่าวว่า เนื่องจากมีใบอนุญาตโรงงานค้างอยู่จำนวนมาก โดยในการประชุมครั้งที่ผ่านมาได้เชิญอธิบดีกรมโรงงานมาชี้แจง พบว่าปัญหาที่พบส่วนใหญ่เกิดจากเอกสารไม่ครบถ้วน จึงต้องมีการส่งกลับไปให้บริษัทยื่นเอกสารมาเพิ่ม แต่คาดว่าจะมีการส่งกลับมาที่กรมแล้ว หากเอกสารครบทางอธิบดีก็จะเริ่มออกใบอนุญาตโรงงาน หรือ รง.4 ให้
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ทาง กมธ.การอุตสาหกรรม ก็ได้ให้ความเห็นว่า การออกใบ รง.4 ตามที่ นายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงอุตสาหกรรมฯ เร่งรัดไปนั้น เป็นเรื่องจำเป็น เพราะประเทศจะต้องตอบรับการลงทุนจากนักลงทุน
“การที่ใบ รง.4 ออกช้า ก็กระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ และการลงทุน แต่สิ่งสำคัญคือ หากให้ใบอนุญาตแล้ว ต้องไปกำกับผู้ประกอบการให้อยู่ในกฎหมายและปฎิบัติตามระเบียบ ไม่ใช่ว่าให้ใบอนุญาตไปแล้ว ขาดการกำกับดูแล ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการละเมิดกฎหมาย ส่งผลกระทบต่อประชาชน สิ่งแวดล้อม มลภาวะในชุมชน” นายอัครเดช กล่าว
ส่วนกรณีไฟไหม้โรงงานที่ผ่านมานั้น มีการบ่งชี้ว่าอาจจะมาจากการวางเพลิงหรือไม่ นายอัครเดช กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เกิดจากอุบัติเหตุ เกิดจากสภาวะอากาศที่ร้อนจัด เมื่อมีความร้อนเกิดขึ้นก็อาจเกิดได้บ่อยครั้ง ซึ่งเราไม่สามารถป้องกันได้แต่สิ่งที่สำคัญคือการควบคุมเพลิงให้ได้รวดเร็ว
นายอัครเดช บอกต่อว่า ดังนั้นวันนี้ กมธ.การอุตสาหกรรม จึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเพลิง อาทิ ปภ. , กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย , กรมการอุตสาหกรรม เข้ามาชี้แจงว่าเมื่อเกิดเพลิงไหม้ มาตรฐานในการประเชิญเหตุหรือแผนในการควบคุมเพลิงเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อดูความพร้อมในการควบคุมเพลิง
นายอัครเดช บอกอีกว่า ส่วนกรณีที่เป็นเหตุวางเพลิงนั้น ในการเผาทำลายหลักฐาน หรือของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีความสงสัยว่าเหตุเพลิงไหม้ที่จังหวัดระยองและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อาจเกิดจากการวางเพลิง ซึ่งต้องเร่งรัดดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดให้ได้ และคิดว่ากระบวนการสืบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงมาดำเนินคดีตามกฎหมายมองว่าเป็นสิ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังเร่งดำเนินการอยู่
จากข้อถามที่ว่า จะมีการพัฒนาระบบแจ้งเตือนประชาชนอย่างไรบ้าง นายอัครเดช กล่าวว่า ในส่วนของการเกิดเหตุเพลิงไม่ว่าจะเป็นกรณีการวางเพลิง หรืออุบัติเหตุ สิ่งที่สำคัญคือแผนในการเผชิญเหตุ จะมีการให้ข้อเสนอในที่ประชุมวันนี้ อย่างน้อยในกรณีที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ประชาชนควรจะได้รับข่าวสารและเตรียมตัว รวมถึงการปฎิบัติตัวอย่างไรหากเกิดเหตุเพลิงไหม้ รวมถึงผู้ดำเนินการ จะต้องปฏิบัติอย่างไรระหว่างควบคุมเพลิง