กมธ.พลังงานเชิญ “สนพ.-กฟผ.-กฟน.-กฟภ.” หารือเพื่อขอทราบแผนการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย เพื่อเป็นข้อมูลให้มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชนน้อยที่สุด
น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ สส.สุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ว่า กมธ.พลังงานได้มีการพิจารณาเรื่อง “การพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย” โดยมี ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เข้าร่วมประชุม ที่อาคารรัฐสภา
น.ส.วชิราภรณ์ กล่าวว่า ในแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์กริดของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 โดยให้คำนึงถึงความคุ้มค่าของการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด และให้มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชนให้น้อยที่สุด ตามภาพรวมของแผนตามแนวคิด 3 หลักการ คือ ระบบไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง และมีประสิทธิภาพ ( Smart System) เทคโนโลยีการใช้พลังงานในอนาคต (Smart Life) และสังคมพลังงานสีเขียวและคาร์บอนต่ำ ( Green Society)
ทั้งนี้ มีการแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 ระยะ คือ 1) ระยะเตรียมการ พ.ศ.2558-2559 เป็นการเตรียมการด้านนโยบายเพื่อรองรับการพัฒนาทั้งระบบ การกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบ การกำหนดรูปแบบการดำเนินการ 2) ระยะสั้น พ.ศ. 2560-2564 เป็นการพัฒนาโครงการนำร่อง การสนับสนุนการศึกษาวิจัย การดำเนินรูปแบบธุรกิจและการนำร่องธุรกิจ และการพัฒนาระบบการพยากรณ์ไฟฟ้า
3) ระยะปานกลาง พ.ศ.2565-2574 ซึ่งเป็นระยะดำเนินการปัจจุบัน เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้ายุคใหม่ และปรับกฎระเบียบต่างๆ ให้เอื้อต่อการพัฒนาสมาร์ทกริดขั้นสูง การลงทุนธุรกิจและโครงสร้างพื้นฐาน และ 4) ระยะยาว พ.ศ.2575-2579 เริ่มปรับปรุงความสามารถของระบบไฟฟ้าเพิ่มเติม อาศัยเทคโนโลยีที่ต่อยอดจากโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาขึ้น และการลงทุนระบบสมาร์ทกริดขั้นสูง
ประธาน กมธ.พลังงาน กล่าวว่า ในปัจจุบันการดำเนินการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้จัดตั้งระบบการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Forecast : REFC) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีการทำโครงการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะนำร่องในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้น
สำหรับ ปัญหาอุปสรรคที่สำคัญ คือการสร้างแพลตฟอร์มรวมที่จะเชื่อมโยงข้อมูลของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ให้รวมศูนย์อยู่ที่เดียวกันยังต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ และยังต้องมีการแก้ไขปรับปรุงระเบียบและกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้วย