Skip to content
Home » “อนุชา บูรพชัยศรี” ย้ำพิจารณารายงานศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ฯอย่างครอบคลุม

“อนุชา บูรพชัยศรี” ย้ำพิจารณารายงานศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ฯอย่างครอบคลุม

“อนุชา บูรพชัยศรี” ย้ำกลางสภาฯ กมธ.วิสามัญฯพิจารณารายงานศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ฯ ทำข้อเสนออย่างครอบคลุมเป็นประโยชน์ให้รัฐบาลนำไปตัดสินใจ มองถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้ในอนาคต

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ นายอนุชา บูรพชัยศรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษา ญัตติ เรื่องการศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ชี้แจงในสภาฯเพื่อแก้ข้อสงสัยของฝ่ายค้านในโครงการว่า มีสมาชิกสงสัยถามว่างบประมาณเหมาะสมหรือไม่ในการลงทุนโครงการนี้ รวมถึงสงสัยเรื่องการยกระดับการแข่งขัน ของประเทศในด้านใดได้บ้าง อยากบอกว่า กมธ.มองภาพตามยุทธศาสตร์ว่า จะทำอย่างไรให้ GDP ของประเทศสูงขึ้น ทำอย่างไรให้รายได้ของประชาชนสูงขึ้น ถ้าเรายังดำเนินการตามรูปแบบปัจจุบันที่ทำอยู่ คงไม่สามารถยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีรายได้สูงขึ้นหรือ GDP สูงขึ้นได้ ต่อให้เราสร้างมูลค่าเพิ่มในด้านอื่น ก็ไม่สามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ตรงนี้ได้

นายอนุชา กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลได้ทำต่อเนื่องมาจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา เราคิดอะไรที่เป็นแนวใหม่ เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล อุตสาหกรรม AI อุตสาหกรรมที่ดูเรื่องสภาพแวดล้อมชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงการต้องเข้าอยู่ในประชาคมโลกไม่ดำเนินนโยบาย ที่มีปัญหากับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นอุตสาหกรรมในอนาคตจึงต้องมีการบริการมากขึ้น การดำเนินการต่างๆ ต้องนำเสนอวิสัยทัศน์ของรัฐบาล ว่าเราจะไปทางไหน กมธ.ได้ศึกษาในลักษณะแบบนี้ การศึกษาจึงมีการสรุปว่า จากนี้ไปจะต้องทำอะไรบ้าง

สำหรับ สิ่งที่สมาชิกสงสัยว่าโครงการนี้เป็นเรื่องของการคมนาคมขนส่งหรือไม่ กมธ.ได้ตกผลึกหลังจากเชิญหลายหน่วยงานมาชี้แจงไม่ใช่เฉพาะคมนาคม ต้องบอกว่า สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่ง(สนข.) เป็นหน่วยงานที่น่าเห็นใจที่สุด ทั้งการศึกษา ทั้งการได้รับคำพูดถากถางต่างๆจากในที่ประชุม หรือการอภิปรายในสภาฯ แต่กรอบที่เสนอให้สนข.นำไปพิจารณาถึงเรื่องความเหมาะสมและความคุ้มค่า ให้ดูเรื่องท่าเรือฝั่งชุมพร ท่าเรือฝั่งระนอง ไปดูเรื่องการจราจรระหว่าง 2 ท่าเรือ รวมถึงไปดูการก่อสร้างถนนบายพาส ระหว่าง 2 ท่าเรือ กมธ.ได้มีข้อเสนอแนะว่าจากนี้ไปต้องทำอะไร

“ กมธ.ชุดนี้ไม่ได้ดำเนินการในสิ่งที่รัฐบาลส่งมา แล้วเรามาแสตมป์ตรายางว่า ควรจะต้องทำ หรือไม่ทำ แต่ได้มีการศึกษาว่าอะไรที่รัฐบาลยังไม่ดำเนินการ กมธ.จะเสนอแนะในสิ่งเหล่านี้ ว่า ควรดำเนินการอะไร ถ้าได้อ่านในรายละเอียด ในรายงาน มีหลายหน่วยงานไม่ใช่เฉพาะคมนาคมเพียงอย่างเดียว แต่มีกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒน์ฯ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ ทั้งหมดเราทำงาน ผสมผสานกัน เพราะเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน”นายอนุชากล่าว

นายอนุชา กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์จะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) มาสนับสนุนถ้า SEC ไม่เกิดรัฐบาลชุดนี้คงจะไม่เดินหน้าในส่วนของโครงการแลนด์บริดจ์ เพราะโครงการนี้ไม่ใช่การขนส่งทางเรือระหว่าง 2 ท่าเรือเท่านั้น แต่เป็นการทำท่าเรือด้วย ส่วนที่เกี่ยวข้องกับคำถามอื่นๆเช่น ใครจะมาลงทุนกมธ.สรุปชัดเจนเราจะใช้ในลักษณะการร่วมทุนด้านภาคเอกชน หากมีการศึกษาแล้ว สิ่งที่สนข.ไปศึกษามาเป็นแค่ปฐมบท การเริ่มต้น ไม่มีใครที่จะมาลงทุน 1 ล้านล้านบาทแล้วเอารายงานของสนข.ไปทำ หรือเอาแรงงานของกมธ.ชุดนี้ไปทำ อย่าเข้าใจผิดว่า รายงานเล่มนี้ศึกษาว่าคุ้มทุนหรือไม่คุ้มทุน จะทำหรือไม่ทำ แต่เป็นการศึกษาว่าจากนี้ไปรัฐบาลควรจะดำเนินการอย่างไร เพื่อหาคำตอบเพิ่มเติม ขอให้สมาชิกเข้าใจตรงกันว่ารายงาน ของกมธ.ไม่ใช่ข้อยุติ

นายอนุชา กล่าวถึงกรณีที่ถามว่าคุ้มไม่คุ้มกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน หรือวิสัยทัศน์อีก 50 ปีของประเทศ ว่า ตนอยากบอกว่าเราคงไม่สามารถพูดไปไกลถึงขนาดนั้นเพราะกมธ.ไม่ได้มีหน้าที่บอกรัฐบาล ว่านโยบายของรัฐบาลควรทำอะไร สิ่งที่เราได้ศึกษาแล้วเสนอเป็นรายงานคือ เรากำลังบอกว่าถ้าหากจะเดินหน้าโครงการนี้ จะเดินหน้าอย่างไร เพื่อความรอบคอบ กมธ.ได้เสนอรายงานเป้นลายลักษณ์อักษร รัฐบาลจะได้ดำเนินหน้าต่อไปได้ว่า ใครจะมาเป็นฝ่ายเลขา ของการทำโครงการนี้ ไม่ใช่เพราะเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์อย่างเดียว แต่ยังมีในเรื่อง SEC จะให้สภาพัฒน์ฯดำเนินการ หรือไม่ กมธ.ก็ได้สรุปอยู่ในรายงานค่อนข้างชัดเจน

“แต่ถ้าจะสรุปให้ลึกลงในรายละเอียดว่า คุ้มค่าหรือไม่ ก็ไม่สามารถตอบได้ 100% เพราะงบปี 67 ยังมีการพิจารณาว่าให้สนข.นำงบไปศึกษาเพิ่มเติมหรือไม่ หน่วยงานอื่นๆ ก็มีการเตรียมงบประมาณในปี 2568 เพื่อใช้ศึกษาในภาพรวม ทั้งหมดของแต่ละหน่วยงานด้วย หลังจากร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ผ่านวาระ 2 ในเดือนมีนาคม หลังจากนั้นอีก 3-4 เดือน จะเห็นว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะไม่ใช่เป็นการศึกษาผ่านกระทรวงคมนาคมดีต่อไป แต่จะเป็นการศึกษาผ่านงบประมาณของกระทรวงอื่นๆ อีกมากมายที่จะรวมศูนย์” นายอนุชากล่าว

นายอนุชา กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาเราเคยมีการศึกษา ว่าจะสร้างแลนด์บริดจ์ ที่ขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราชไปพังงาไปกระบี่ สุดท้ายก็ไม่ได้ทำ หลังจากนั้นอีก 30 ปีก็มีการนำเสนอไปสร้างที่จังหวัดสงขลา ไปที่ท่าเรือ ปากบารา จังหวัดสตูลก็ไม่ได้สร้างอีกเพราะประชาชนไม่อยากให้สร้างมองว่าใกล้สถานที่ท่องเที่ยวเกินไป สุดท้ายจึงมาที่ชุมพรและระนอง แต่ถ้าหากสุดท้ายแล้วประชาชนภาคใต้บอกว่า โครงการแลนด์บริดจ์ไม่เหมาะสม ตนมั่นใจว่ารัฐบาลก็คงไม่ทู่ซี้ต้องทำให้ได้ เหมือนที่กมธ.ชุดนี้ได้พิจารณาว่า เราไม่ได้ฟันธงแต่เราคิดว่ารัฐบาลควรต้องดำเนินการอย่างไรที่จะให้โครงการแลนด์บริดจ์ครอบคลุมทั้งหมด

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า