Skip to content
Home » รมว.อุตสาหกรรม ชี้แจงนโยบายปลดล็อคให้ติดตั้ง Solar rooftop

รมว.อุตสาหกรรม ชี้แจงนโยบายปลดล็อคให้ติดตั้ง Solar rooftop

รมว.อุตสาหกรรม ชี้แจงกลางสภาฯนโยบายปลดล็อคให้ประชาชนและผู้ประกอบการติดตั้ง Solar rooftop บนหลังคาได้ง่ายขึ้นลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ย้ำรัฐมีมาตรการควบคุมดูแลที่ได้มาตรฐาน

เมื่อวันที่ 25 มกราคม นายเกรียงยศ สุดลาภา สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ตั้งกระทู้ถามระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถาม น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เรื่องการปลดล็อค Solar rooftop ของอาคารบ้านเรือนทั่วไป กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายปลดล็อคการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้า จากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา หรือ Solar rooftop อย่างไรพราะปัจจุบันการติดตั้งโซล่าเซลล์มีข้อจำกัดด้านกฎหมายหลายด้าน

ทั้งนี้ มีกฎกระทรวงได้มีการกำหนดข้อยกเว้นสำหรับการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ติดตั้งบนหลังคาดาดฟ้าหรือส่วนหนึ่งส่วนใดบนอาคาร ซึ่งบุคคลอาจเข้าไปอยู่หรือใช้สอยได้ที่มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งสูงสุดรวมกันของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ไม่เกิน 1,000 กิโลวัตต์ เนื่องจากเห็นว่า เป็นกิจการที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม มีผลให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ประเภทและขนาดดังกล่าว ไม่ถือเป็นโรงงานอีกต่อไป กระทรวงอุตสาหกรรมต้องทบทวนและปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป

นายเกรียงยศ กล่าวว่า จากข้อมูลสถานการณ์การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า พ.ศ 2565 ในประเภทการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์พบว่า มีสัดส่วน 21.66% จากพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด การปลดล็อคการติดตั้งพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาให้ไม่เข้าข่ายโรงงานอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานจะเป็นการเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปีพ.ศ 2608

นอกจากนี้ ทราบมาว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงานได้ร่วมมือประกาศนโยบายพลังงานสีเขียว หรืออยู่ UGT เป็นไฟฟ้าที่มีกระบวนการผลิตจากพลังงานสะอาดอย่างมีมาตรฐาน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้ ลดความเสี่ยงและความยุ่งยากในการจัดหาไฟฟ้าสีเขียวและเอกสารรับรอง ดังนั้นนโยบายการปลดล็อคการติดตั้ง Solar rooftop ของกระทรวงอุตสาหกรรม ส่งผลให้รัฐบาลสามารถจัดหาไฟฟ้าสีเขียวในปริมาณเพียงพอ สนองต่อความต้องการและรองรับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเร่งรัด ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

นายเกรียงยศ กล่าวว่า ตนจึงขอตั้งคำถาม คือ การที่กระทรวงพลังงานประกาศนโยบายพลังงานสีเขียว เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าที่ไม่ปล่อยคาร์บอน กระทรวงอุตสาหกรรมมีแนวทางสนับสนุนนโยบายเรื่องนี้หรือไม่ คำถามข้อที่ 2 คือ ปัจจุบันไม่ใช่แต่โรงงานอุตสาหกรรมมีต้นทุนด้านพลังงาน ประชาชน ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก สถานศึกษาก็มีปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งพลังงานสะอาด กระทรวงอุตสาหกรรมมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไร และคำถามข้อ 3 กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังเดินหน้าแก้ไขกฎหมายเพื่อปลดล็อคโซล่าเซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือ Solar Rooftop อยากทราบว่า การปลดล็อคครั้งนี้มีความคืบหน้าอย่างไรและคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยหรือไม่ และใครจะเข้ามาดูแล

ด้าน น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ชี้แจงกระทู้ถามว่า กระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้รัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้องการเพิ่มรายได้ลดรายจ่ายของประชาชน อะไรที่เป็นอุปสรรคปัญหา อะไรที่สามารถช่วยผู้ประกอบการได้เรายินดีช่วยสนับสนุน โดยเฉพาะนโยบายของกระทรวงพลังงานมีเรื่องพลังงานสีเขียว เพื่อลดต้นทุนพลังงานช่วยเหลือผู้ประกอบการ และช่วยเหลือประชาชนให้สามารถหาพลังงานสะอาดได้ด้วยตัวเอง ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้รับลูกเชื่อมโยงนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะพลังงานสีเขียว ถูกถามตลอดว่าประเทศไทยมีพลังงานสะอาด พลังงานสีเขียวแล้วหรือไม่

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับลูกกระทรวงพลังงานไปดูว่า จะสามารถสนับสนุนกระทรวงพลังงานได้อย่างไรบ้าง เมื่อไปดูแล้ว จึงเห็นว่า เรื่อง Solar rooftop เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อเข้าไปดูจึงเจอปัญหาว่า การจะติดตั้ง หรือการขออนุญาตติดตั้ง Solar rooftop ในสถานประกอบการ หน่วยงานราชการ หรือกิจการของผู้ประกอบการใหญ่ๆ กำลังเจอปัญหา ถ้ามีขนาดเกิน 1 เมกะวัตต์ ต้องไปขออนุญาตกรมโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อเห็นปัญหาตรงนี้ ผู้ประกอบการและประชาชนเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ยาก จึงเข้าสู่ขั้นตอนการแก้ไขกฎกระทรวง

สำหรับ การแก้กฎกระทรวงเราไม่ได้ช่วยเฉพาะหน่วยใดหน่วยหนึ่ง แต่นักลงทุนไทยจะมีความมั่นใจมากขึ้น ถ้ามาลงทุนแล้วมีพลังงานสะอาดและพลังงานสีเขียว เพราะกติกา เรื่องการปล่อยคาร์บอนถ้าเรามีพลังงานสีเขียวจะช่วยผู้ประกอบการ สร้างความมั่นใจให้นักลงทุน เมื่อนักลงทุนเห็นปัจจัยตรงนี้ ก็เป็นส่วนสำคัญตัดสินใจเข้ามาลงทุน

ขณะเดียวกัน ก็ลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการ จากต้นทุนกว่า 20% ที่เป็นต้นทุนด้านพลังงาน อีกทั้งประชาชนก็เข้าถึงพลังงานสะอาด และลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 กระทรวงอุตสาหกรรม จะทำนโยบาย พลังงานสะอาดและพร้อมสนับสนุน เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน และให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานได้โดยง่าย

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า เมื่อกระทรวงอุตสาหกรรม มีการปลดล็อคให้ประชาชนและผู้ประกอบการที่ต้องการติดตั้ง Solar rooftop เดิมถ้าเกิน 1 เมกะวัตต์ ต้องเข้าไปขออนุญาตกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยต้องขอใบ รง. 4 แต่วันนี้ได้ปลดล็อคหมดแล้ว ซึ่งไม่ต้องขอใบอนุญาต จะทำให้โรงพยาบาล โรงเรียน สถานประกอบการที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายค่าไฟ ที่ต้องการติด Solar rooftop บนหลังคาติดตั้งได้ง่ายขึ้น วันนี้เรารื้อ ลด ปลด สร้าง แก้ปัญหาทั้งหมด ลดขั้นตอนอุปสรรคสร้าง โอกาสให้ประชาชนให้เข้าถึงพลังงานสะอาด

รมว.อุตสาหกรรม ชี้แจงว่า เราจะยึดถือกฎหมายแบบเดิม ๆ อีกต่อไปไม่ได้ ในเมื่อเทคโนโลยีมีความทันสมัยขึ้น ก่อนหน้านี้แผงโซล่าเซลล์ 1 เมกะวัตต์ใช้ 4,000 กว่าแผง แต่ปัจจุบันเทคโนโลยี มีการพัฒนา 1 เมกะวัตต์ ใช้เพียง 1,000 กว่าแผงเท่านั้น เราจึงเห็นว่ากฎหมายเดิม มีความล้าสมัยจึงต้องเปลี่ยนให้ทันสมัยมากขึ้น และทำให้สอดคล้องกับนโยบายพลังงานสีเขียว และเราจะกลับมาดูว่า กฎหมายและกฎกระทรวงฉบับใด สามารถปรับเปลี่ยนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงพลังงานในราคาที่ถูกได้ เป็นการขยายโอกาส มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นเราก็จะทำ

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ส่วนเรื่องความปลอดภัยทางกระทรวงอุตสาหกรรมคำนึงถึงมาก ไม่ใช่แค่ความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน แต่หมายถึงความปลอดภัยของชุมชนและประชาชน โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบ 2 ส่วน คือหน่วยงานที่กำกับดูแล ตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติมอยู่ในความดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม และ 2 การกำกับดูแลตามประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในเรื่องมาตรการออกแบบติดตั้ง และจัดการขยะและกากของเสีย สำหรับผู้ประกอบการกิจการ

“เราคำนึงว่าติด Solar rooftop แล้วเมื่อแผงโซล่าเซลล์หมดอายุจะจัดการอย่างไร วันนี้ไม่ได้มีแค่แผงโซล่าเท่านั้น ยังมีแบตเตอรี่ธรรมดา แบตเตอรี่ไฮบริด และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เราคำนึงทั้งระบบ ร้านค้าจะโยนภาระให้ใครฝ่ายเดียวไม่ได้ ดังนั้นจึงกำหนดมาตรฐานในการบำรุงรักษาไว้ด้วย ความรับผิดชอบของกระทรวงอุตสาหกรรมก็ให้สมอ.กำหนดมาตรฐานของแผงโซล่า เพื่อให้มีความปลอดภัย ต้องผ่านม.อ.ก ต่าง ๆ” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

สำหรับ การติดตั้งไฟฟ้าและระบบจ่ายกำลังซึ่งมาตรฐานไม่ได้มีในตัวสินค้าเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงตั้งแต่กระบวนการติดตั้ง การดูแล หลังจากนี้เราจะไม่ปล่อยให้เป็นมาตรฐานทั่วไป แต่จะทำให้เป็นมาตรฐานบังคับใช้ ถ้าบังคับใช้ได้เมื่อไหร่ทุกบริษัท ทุกที่ต้องปฏิบัติตาม นี่คือความห่วงใยที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า สินค้าใดๆก็ตาม ซื้อได้ซื้อง่ายราคาถูก แต่ต้องมีมาตรฐาน สำคัญที่สุดคือ การดูแลหลังปลดระวางแผงโซล่า จะดูว่าจะส่งคืนประเทศต้นทาง หรือจะมาจัดการในประเทศ ตรงนี้เป็นนโยบายของกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และเป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่จะต้องมีศูนย์กลางเรื่องจัดการขยะของเสียและขยะมีพิษ

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวย้ำว่า ขอให้สมาชิกมั่นใจกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงาน เรามีนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการและส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้พลังงานราคาถูก ไม่ว่าจะเกิดปัญหาใดก็ตามเราสู้ให้ทุกปัญหาและพึ่งพาได้ทุกเรื่องปลอดภัยหรือไม่ และใครจะเข้ามาดูแล