ดร.ปรเมษฐ์ จินา สส.สุราษฎร์ธานี รวมไทยสร้างชาติ อภิปรายสนับสนุนการจัดงบของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อดูแลสุขภาพคนไทย พร้อมเสนอให้จัดทำแอปพลิเคชันอำนวยความสะดวกผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางลดปัญหาแออัดที่โรงพยาบาล
เมื่อวันที่ 4 มกราคม ดร.ปรเมษฐ์ จินา สส.สุราษฎร์ธานี เขต 5 พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้อภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2567 ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ว่า ภาพรวมงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขดูแล้วพึงพอใจในระดับสูง ในปี 2566 กระทรวงสาธารณสุขได้รับงบ 152,263.9 ล้านบาท ในปี 2567 เพิ่มขึ้นมาเป็น 165,726.2 ล้านบาท ได้งบเพิ่มมาถึง 13,462.3 ล้านบาท คิดเป็น 8.8 % ตัวเลขกลมๆ เพิ่มมาร้อยละ 9 ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นและเห็นด้วย เพราะเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของทุกคน สุขภาพต้องมาก่อน ถ้าสุขภาพไม่ดีแล้วงบกระทรวงอื่นคงไม่ต้องพูดถึง ที่สำคัญเรามาดูว่า ตอบโจทย์เรื่องของสุขภาพในปี 2567 อย่างไร
นายปรเมษฐ์ กล่าวว่า ภารกิจหลักของกระทรวงสาธารณสุขมี 5 ภารกิจหลัก ภารกิจแรก เป็นเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ เราเคยได้ยินคำว่าสร้างนำซ่อม ปัจจุบันคงต้องเน้นในเรื่องการมีส่วนร่วมเข้าไปด้วย ที่สำคัญวันนี้เรามีองค์กรที่มาช่วยงานด้านสุขภาพหลากหลาย เช่น สำนักงานกองทุนสร้างสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสถาบันวิจัยต่าง ๆ ของกระทรวงสาธารณสุข ทุกฝ่ายจะเข้ามาดูแลในเรื่องสุขภาพ
ทั้งนี้ ในปัจจุบันก็ยังมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือเทศบาล ที่สำคัญณวันนี้เราต้องเน้นในเรื่องการพัฒนาศักยภาพ โดยเฉพาะการป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ ส่วนที่สำคัญและเป็นกำลังหลักและเป็นพระเอกในช่วงโควิดที่ผ่านมา คืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. เมื่อไปที่ดูแผนงานของกระทรวงสาธารณสุข ในพ.ร.บ.ฉบับนี้พบว่า มีการพัฒนาศักยภาพการฟื้นฟู อสม. การอบรม อสม.เชี่ยวชาญ และการทัศนศึกษาดูงานของ อสม. การเพิ่มค่าป่วยการ รัฐบาลที่ผ่านมาได้เพิ่มค่าป่วยการเป็น 2 เท่าจาก 1,000 บาท เป็น 2,000 บาท ซึ่งเวลานี้จะได้ได้รับงบเดิมไปก่อนเดือนละ 1,000 หลังจากพ.ร.บ.งบประมาณผ่านสภาฯแล้ว ประมาณเดือนพฤษภาคม อสม.จะได้ตกเบิก ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมาอีกเท่าตัว
นอกจากนี้ เรื่องสวัสดิการต่าง ๆ ของอสม.ที่มีเพิ่มเติมมา ทั้งเรื่อง ห้องพิเศษ ฌาปนกิจของอสม. ถ้าเป็นไปได้สภาฯ ผ่าน 3 วาระรวดให้เป็นค่าตอบแทนของอสม.น่าจะดี แต่กระบวนการของกฎหมายก็ให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย ส่วนที่สำคัญอยากจะบอกว่า งบที่เพิ่มขึ้นมาอย่ากังวลในเรื่องสุขภาพตนมองว่า มีหลายหน่วยงานที่จะมาลงขันทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) มาดูแลในเรื่องของผู้สูงอายุครบวงจร กระทรวงมหาดไทย มาดูโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไปขึ้นกับอบจ.และเทศบาล
นายปรเมษฐ์ กล่าวว่า ถ้าเป็นไปได้การส่งเสริมสุขภาพควรคิดแนวใหม่ ถ้ายังไม่ตอบโจทย์ จะต้องแปรญัตติในเรื่อง การสร้างเสริมสุขภาพเป็นหลัก มีการทำโปรแกรมต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อกำหนดว่า ใครไม่ป่วยจะมีเงินปันผลให้ มีกระบวนการรับเงินปันผลแทนการรักษาพยาบาล
สำหรับ ภารกิจด้านที่ 2 คือด้านป้องกันโรค ซึ่งคล้ายกับการสร้างเสริมสุขภาพ ในส่วนคนที่เข้ามารับบริการฉีดวัคซีนตามอายุหรือตรวจสุขภาพ ถ้าใครเข้ามาตามโปรแกรมก็สามารถสะสมคะแนนไว้ได้เพื่อตอบแทนต่อสิ้นปี และต้องจัดทำ application ใหม่ๆ ขึ้นมา ให้กับกลุ่มเสี่ยง ปัจจุบันเราพบว่า มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต ทั้งโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ถ้ามี Application ให้กลุ่มเสี่ยงเตือนล่วงหน้าให้เข้าไปรักษาก็จะเป็นการดี ส่วนการคัดกรองมะเร็งก็ถือเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆของประเทศ ทั้งมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก จะต้องมีการคัดกรองตั้งแต่เริ่มต้น
นายปรเมษฐ์ กล่าวถึง ภารกิจที่ 3 ด้านการรักษาพยาบาล ปัจจุบันเราพบว่า การผลิตแพทย์พยาบาล ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย จึงต้องฝากทางกระทรวงสาธารณสุข ไปดูเรื่อง สถาบันพระบรมราชชนกในการผลิตแพทย์และพยาบาลเพิ่มเติม ควรจะเพิ่มการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้ตอบโจทย์ผู้ป่วยในปัจจุบัน เช่น รองรับโรคลองโควิด รองรับสังคมผู้สูงอายุ
“อีกส่วนหนึ่งคือการบูรณาการกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น ป.ป.ส.ในการดูแลผู้ติดยาเสพยา และผู้มีปัญหาทางจิต ผู้ติดยาและผู้เสพ ให้ชุมชนบำบัดได้ แต่ ป.ป.ส. ต้องลงขันกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเอาคนที่มีปัญหาทางจิต เข้ามาสู่ระบบแล้วบำบัดให้ได้อย่างน้อย 4 เดือน ถือเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาต่อสังคม นอกจากนั้นมีเรื่องโรงพยาบาลศูนย์เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ จะมีปัญหาเรื่องความแออัดของผู้ป่วยถึงเวลาแล้ว ควรให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงดิจิทัล ที่ได้งบเพิ่มเป็นลำดับหนึ่งถึงร้อยละ 30 น่าจะลงขันช่วยกระทรวงสาธารณสุขจัดทำโปรแกรมเพื่อลดความแออัด”สส.สุราษฏร์ธานี เขต 5 พรรครวมไทยสร้างชาติกล่าว
นอกจากนั้นยังมีเรื่องบัตรประชาชนใบเดียว ควรใช้ได้ทุกที่ ทุกโรค ทุกเวลา รวมถึงการสร้างศูนย์การแพทย์อินเตอร์ในเมืองท่องเที่ยว เช่นภูเก็ต เกาะสมุย พัทยา และ เชียงใหม่ ควรจะดึงงบจากคนไข้ที่มารับบริการ โดยเฉพาะชาวต่างชาติ มีทั้งรัสเซีย อินเดีย ที่เข้ามามาก ควรดูว่าปัญหาสุขภาพของชาวต่างชาติที่เข้ามาในเมืองไทยมีอย่างไรบ้าง ต้องมีการบูรณาการร่วมกัน
นายปรเมษฐ์ กล่าวว่า ภารกิจเรื่องที่ 4 การฟื้นฟูสภาพ สปสช.ที่ดูเงินรายหัวของกระทรวงสาธารณสุข ต้องมีการปรับปรุงและเพิ่มเติมด้านอุปกรณ์กายภาพบำบัด บูรณาการกับกระทรวงพัฒนาสังคมฯ สร้างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและดูแลผู้พิการ ที่สำคัญที่ชาวบ้านอยากเห็นมีหน่วยงานทำงานเชิงรุกเข้าไปคัดกรอง และรับลงทะเบียนผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือผู้ป่วยติดเตียง คนเหล่านี้เขามาโรงพยาบาลลำบาก จึงควรจะไปบริการถึงบ้าน เมื่อลงทะเบียนผู้พิการแล้วหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ควรมีเจ้าหน้าที่บริการเชิงรุกให้กับประชาชนในพื้นที่
นายปรเมษฐ์ กล่าวว่า สำหรับภารกิจสุดท้ายคือ การคุ้มครองผู้บริโภค จะได้มีการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การดูแลและอนุญาตต่างๆ ในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุขมีคำกล่าวที่ว่า ถ้าเราไม่อยากเห็นโลงศพแล้วหลั่งน้ำตาคือ เป็นโรคแล้วค่อยรักษา ถ้าอยากจะอยู่ให้แข็งแรงถึงวัยชราต้องหันหน้ามาออกกำลังกายเดี๋ยวนี้เลย