กมธ.อุตสาหกรรม สภาฯ นำหลายหน่วยงานลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานน้ำตาล ลักลอบทิ้งน้ำเสียใกล้วนอุทยานถ้ำเขาน้อย อ.บ้านโป่ง ส่งกลิ่นเหม็นกระทบชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก ย้ำ 5 มาตรการให้หน่วยงานไปเร่งหาข้อเท็จจริง หากผิดดำเนินคดีตามกม.อย่างเด็ดขาด
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมาธิการฯ พร้อมด้วยหลายหน่วยงาน อาทิ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ผู้แทนอธิบดีกรมที่ดิน ผู้แทนอธิบดีกรมป่าไม้ ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายอำเภอโพธาราม ผู้นำท้องที่ผู้และนำท้องถิ่น ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบที่ดินติดกับวนอุทยานถ้ำเขาน้อย ตำบลหนองกวาง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี หลังจากกรรมาธิการฯได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในอำเภอบ้านโป่งว่า มีโรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่งลักลอบนำน้ำเสียมาทิ้งไว้ส่งกลิ่นเหม็นกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นายอัครเดช กล่าวว่า หลังจากนั้น กรรมาธิการฯ ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องที่ อบต.หนองกวาง อำเภอโพธาราม ได้ข้อสรุปเพื่อดำเนินการหาข้อเท็จจริงตามข้อร้องเรียนของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบดังนี้ 1. เนื่องจากผู้แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า น้ำที่นำมาทิ้งถือเป็นของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม มีค่าซีโอดี และค่าโลหะหนักสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ที่ประชุมจึงมอบหมายให้รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ไปดำเนินคดีตามกฎหมาย หาคนที่นำน้ำเสียมาทิ้งว่า เป็นของโรงงานใดพร้อมทั้งให้สืบหาเจ้าของและให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย
2.พื้นที่ดังกล่าวติดกับวนอุทยานถ้ำเขาน้อย จึงได้เชิญ ผู้แทนอธิบดีกรมที่ดินมาชี้แจง เพราะมีความเป็นไปได้ว่าที่ดินที่มีการนำน้ำเสียมาทิ้ง อาจจะได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ประชุมจึงมอบหมายให้กรมที่ดินและกรมป่าไม้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาสอบสวนการได้มาซึ่งสิทธิในการครอบครองนส.3 ก 2.2 พันไร่ ดังกล่าวแล้วให้รายงานกรรมาธิการฯภายใน 30 วัน ว่าที่ดินได้มาถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าได้มาโดยไม่ถูกต้อง ก็ให้มีการเพิกถอน นส. 3 ก ทั้งหมด
ประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม กล่าวว่า 3. มีหลักฐานว่า การทิ้งน้ำเสีย แม้จะทิ้งในพื้นที่ของเอกชน แต่น้ำเสียได้ไหลเข้าไปในพื้นที่วนอุทยานถ้ำเขาน้อย ที่ประชุมจึงมอบหมายให้ผู้แทนของอธิบดีกรมอุทยานฯ ไปกล่าวโทษกับผู้กระทำความผิด
ส่วนข้อ 4.กรรมาธิการฯ ให้อบต.หนองกวาง ดำเนินคดีกับเจ้าของที่ดิน และผู้ที่นำของเสียมาทิ้งผิดตามพ.ร.บ.สาธารณสุขเพราะประชาชนร้องเรียนมาเรื่องกลิ่น
และ 5. เคยมีคำสั่งของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้โรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่ง หยุดการนำของเสียมาทิ้ง แต่ปัจจุบันตั้งแต่ปี 2562 กำนันผู้ใหญ่บ้านได้ให้ข้อมูลในที่ประชุมว่า ยังมีการนำน้ำเสียมาทิ้ง ถือว่า เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ ถ้าผิดก็ให้ดำเนินคดีในข้อนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการฯ จะติดตามผลการประชุมทั้ง 5 ข้อที่ได้มีมติออกไป เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ เร่งดำเนินการ เพื่อบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ร้องเรียนมา เพราะการลักลอบทิ้งน้ำเสียถือเป็นปัญหาผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดราชบุรี