Skip to content
Home » ประธานกมธ.อุตสาหกรรม สภาฯ ถามความชัดเจนนโยบายตัดอ้อยสดปีนี้

ประธานกมธ.อุตสาหกรรม สภาฯ ถามความชัดเจนนโยบายตัดอ้อยสดปีนี้

ประธานกมธ.อุตสาหกรรม สภาฯ ถามความชัดเจนนโยบายตัดอ้อยสดปีนี้ พร้อมขอบคุณรัฐบาลอนุมัติเงินช่วยเหลือตัดอ้อยสดปี 65/66 ที่เป็นนโยบายสมัยรัฐบาล “ลุงตู่” ช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อลดการเผาอ้อยลดฝุ่น PM 2.5

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ว่า ชาวไร่อ้อยฝากขอบคุณรัฐบาล ขอบคุณนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง รวมถึง น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ที่ได้อนุมัติจ่ายเงินชดเชยราคาตัดอ้อยสดให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยในฤดูการผลิตอ้อยปี 65/66 จำนวน 120 บาทต่อตัน ซึ่งค้างจ่ายเกษตรกรมาเกือบครบรอบปีแล้ว การอนุมัติครั้งนี้ก็ทำให้เกษตรกรมีเงินไปต่อยอดในการประกอบอาชีพต่อๆ ไป

ทั้งนี้ เกษตรกรชาวไร่อ้อยก็มีการตั้งคำถามว่า มาตรการของรัฐบาลที่จะช่วยชาวไร่อ้อยในการตัดอ้อยสดยังมีอยู่ต่อไปหรือไม่ เพราะว่าเงินที่เห็นชอบล่าสุดจำนวน 120 บาทต่อตันอนุมัติไว้ในรัฐบาลสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ได้มีมาตรการในการช่วยค่าตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ดังนั้นในฤดูการผลิตที่กำลังจะเปิดหีบอีกไม่กี่วันคือฤดูการผลิตอ้อยปี 66/67 ชาวไร่อ้อยต้องการเห็นความชัดเจนจากรัฐบาลว่า การจ่ายเงินชดเชยราคาตัดอ้อยสดยังมีอยู่หรือไม่

“ชาวไร่อ้อยกำลังรอคำตอบจากรัฐบาลอยู่ และได้สะท้อนฝากผมมาถาม พวกเขาจะได้เตรียมวางมาตรการในการประกอบอาชีพ หากไม่มีการจ่ายเงินค่าตัดอ้อยสด ผมเชื่อว่าปัญหาวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะว่าต้นทุนในการผลิตของชาวไร่อ้อยสูงขึ้นพวกเขาก็ต้องเผาอ้อยเหมือนเดิม จะก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ตามมา จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะต้องเร่งทำความเข้าใจกับเกษตรกร ว่ามาตรการในการช่วยเหลือในช่วง 3 ปีที่ผ่านมายังจะทำต่อหรือไม่ ถ้าทำต่อก็ต้องรีบแจ้ง ให้เกิดความชัดเจน เพื่อให้ชาวไร่ได้วางแผนในการผลิต หลังจากโครงการในปี 65/66 จบสิ้นไป” นายอัครเดชกล่าว

ประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ กอน.และ สอน.จะต้องให้ความชัดเจนกับเกษตรกรอย่างเร่งด่วนว่า จะช่วยหรือไม่ ถ้าช่วยจะช่วยตันละเท่าไหร่ แล้วถ้าไม่ช่วยเป็นตัวเงินจะมีโครงการอย่างอื่นมาสนับสนุนหรือไม่ เช่น เครื่องจักรในการสางใบอ้อย หรืออะไร ก็ต้องเร่งให้คำตอบ หากจะช่วยเหลือในเรื่องเครื่องจักรสางใบอ้อยไม่น่าจะทันแล้ว ก็คงจะต้องทำโครงการแบบเดิมไปก่อน ต้องใช้งบประมาณปีหนึ่งเกือบ 8,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากไม่มีความชัดเจนว่าจะช่วยอย่างไร จะเป็นปัญหาที่เกษตรกรต้องออกมาชุมนุมเรียกร้องอีก สุดท้ายแล้วรัฐบาลก็ต้องจ่ายอยู่ดี ถ้าให้ชัดเจนตั้งแต่แรกเกษตรกรก็เตรียมตัวทันในการบริหารจัดการ