3 สส.รวมไทยสร้างชาติอภิปรายสนับสนุนให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯแก้ไขปัญหาที่ดินที่หมักหมมมานาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม นายวิทยา แก้วภราดัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อภิปรายสนับสนุนให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 ปี พ.ศ.2537 (2) และ (3) ว่า ปัญหาการครอบครองที่ดินเป็นเรื่องเร่งด่วนของประชาชน แต่เป็นเรื่องที่ต้องรอบคอบของรัฐบาล และต้องรอบคอบของนักการเมือง ไม่ใช่ในยุคนี้ออกเป็นสปก. แบ่งโฉนดให้ชาวบ้านทั้งหมดอีก 15 ปีพอสภาฯรุ่นใหม่เข้ามาจะขอออกโฉนดในพื้นที่ป่าเพิ่มใหม่อีก มันก็จะกลายเป็นเรื่องแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆไม่จบไม่สิ้น ดังนั้นแนวทางที่ดีที่สุดคือ ต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯประมวลเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ ในความเป็นจริงรัฐบาลได้ตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ให้ดำเนินการจัดทำ จำแนกที่ดินและแบ่งที่ดินให้ประชาชน แต่ตั้งงบประมาณไว้ 151 ล้านถือว่าน้อยมาก แต่ถ้าเราระดมความคิดจากนักการเมือง ในสภาฯตั้งเป็นกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาเรื่องนี้จริงจังว่า ที่ดินที่ประชาชนเดือดร้อนมีกี่ประเภท ปี 2534 วันที่มีการออกกฎหมายปฏิรูปที่ดิน กรมป่าไม้ มีกรมเดียว มาวันนี้กรมป่าไม้ผ่าออกเป็น 4-5 กรม ป่าอุทยานก็มี ป่าสงวนก็มี ป่าชายเลนก็มี งานถูกแบ่งแยกรายละเอียด แต่ก็มีพื้นที่ที่ประชาชนอยู่อาศัยมีความจำเป็นที่ต้องมาจัดแบ่งให้ประชาชนใหม่อีกรอบนึง
“ไม่ว่าจะเป็นที่ราชพัสดุ หรือที่ป่าสงวนที่หมดสภาพ หรือทุ่งเลี้ยงสัตว์ แม้แต่ที่บางแปลงมีการโต้แย้งกันระหว่างกรมธนารักษ์ กับประชาชน กรมธนารักษ์ยึดเกาะเต่าไว้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี อ้างว่า เป็นที่ขังนักโทษในสมัยโบราณ ความจริงพื้นที่ขับนักโทษมีเพียงแค่ 1 ไร่แต่มาวันนี้ประกาศเขตเกาะเต่าทั้งเกาะเป็นที่รหัสพัสดุมีเอกสารสิทธิ์ไม่ได้ ดังนั้นถ้ามาจำแนกกันจริงๆจะมอบให้รัฐบาล ไปดำเนินการก็ได้ แต่เมื่อมาดูคณะกรรมการจัดทำนโยบายที่ดินแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2556-57 มาถึงวันนี้ความคืบหน้าก็มีแค่นี้ แต่ถ้าตั้งส.สในสภาเป็นกรรมาธิการวิสามัญฯศึกษาควบคู่กันไปแล้วเสนอกฎหมายเข้าสภา เราก็จะสามารถแก้กฎหมายและหลักประกันให้กับประชาชนได้” นายวิทยากล่าว
ด้าน นายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส.ชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อภิปรายว่า ตนได้ยื่นญัตติขอให้สภาฯตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษา และแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินทำกินในทุ่งเลี้ยงสัตว์ และพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ในพื้นที่จ.ชุมพร เนื่องจาก จ.ชุมพร ร้อยละ 40 ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ประชาชนที่ครอบครองที่ดินในทุ่งเลี้ยงสัตว์ และป่าชายเลนมีปัญหา เป็นสิ่งที่ประชาชนเฝ้าหวังให้รัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องนี้ ทุกรัฐบาล ก็ประกาศลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ในเรื่องเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกิน แต่รัฐบาลก็จัดการให้ไม่ได้ ประชาชนจะลืมตาอ้าปากได้อย่างไร
นายวิชัย กล่าวว่า วันนี้ตนเป็นตัวแทนของประชาชนจ.ชุมพร แต่ก็ต้องดูแลประชาชนทั้งประเทศ คนที่ครอบครองที่ดินในทุ่งเลี้ยงสัตว์ ตั้งแต่ 2475 – 2479 ถือครองกันเต็มพื้นที่ ตั้งแต่วัดยังเป็นสำนักสงฆ์ ตนได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ว่า เป็นทุกข์ในเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ประชาชนบางคนอายุ 60 กว่าปีมาร้องเรียนได้ดิ้นรนมาหลายสิบปี แต่ยังไม่สำเร็จ จึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องดูแล เรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม ถ้ารัฐบาลไม่แก้ไขคนไทยก็ยังเป็นทุกข์เป็นร้อน ที่ดินสปก.ก็ถือเป็นพื้นที่ที่น่าสงสาร พ่อแม่ส่งลูกไปเรียนจนได้รับราชการ แต่พอพ่อแม่เสียชีวิตก็โอนสิทธิ์ที่ดินสปก.ให้ลูกไม่ได้ เนื่องจากลูกเป็นข้าราชการ ท้ายสุดที่ดินก็ต้องตกกลับไปเป็นที่หลวงเหมือนเดิม
ทั้งนี้ มีประชาชนเดือดร้อนเกี่ยวกับเรื่องที่ดินอย่างแสนสาหัสโดยเฉพาะประชาชนที่ครอบครองอยู่ในพื้นที่ทุ่งเลี้ยงสัตว์ในจ.ชุมพร มีประชาชนถือครองกว่า 40% ติดปัญหานี้ทั้งหมด ตนได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการเพื่อเชื่อมโยงกับภาครัฐ ถ้าเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ไม่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ทุ่งเลี้ยงสัตว์ประชาชนก็ลืมตาอ้าปากไม่ได้ ลดความเหลื่อมล้ำให้ประชาชนไม่ได้ รัฐบาลก็ถือว่าล้มเหลวอีก แต่ก็ดีใจที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังได้แถลงนโยบาย เรื่องการแก้ไขปัญหาออกเอกสารสิทธิ์ให้ประชาชน 10 ล้านไร่ ตนเชื่อว่าคนชุมพรและคนภาคใต้ที่ถือครองที่ดินอยู่จะได้เอกสารสิทธิ์ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและแก้ไขปัญหาให้ประชาชนอย่างแท้จริง
นอกจากนั้น ประชาชนยังมีปัญหาเรื่องถือเอกสารสิทธิ์ นส. 3 และโฉนดที่ทางราชการได้ขีดเส้นใหม่ไม่สามารถนำเอกสารสิทธิ์แปลงเป็นทุนได้ ธนาคารบอกว่าที่ดินอยู่ในเขตป่าชายเลน ปัญหานี้เป็นปัญหาหมักหมมเช่นเดียวกับทุ่งเลี้ยงสัตว์ ตนเชื่อและศรัทธาในรัฐบาลชุดนี้ว่า จะแก้ปัญหาให้ประชาชนได้แน่นอน มีสมาชิกหลายคนได้ยื่นญัตติเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน เช่นเดียวกับบนเกาะเต่า เกาะพะงัน ก็มีปัญหาเช่นนี้ แล้วจะพัฒนาด้านการท่องเที่ยวได้อย่างไร ดังนั้นกฎหมายที่ดินที่ทับซ้อนอยู่ในปัจจุบัน ทำให้เกษตรกรล้วนยุ่งยากลำบากในการลงทุนทั้งสิ้น ยิ่งในช่วงหน้าแล้งจะไปขุดบ่อบาดาลไม่ได้ มีเจ้าหน้าที่รัฐออกมาเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ทำให้ประชาชนมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น จึงขอฝากไปถึงนายกฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วย แก้ไขปัญหาให้ประชาชน เพื่อให้ประชาชนคนไทยหรือตาอ้าปากได้ และได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาให้ครอบครัว
ด้าน นายพงษ์มนู ทองหนัก สส.พิษณุโลก พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อภิปรายสนับสนุนญัตติเรื่องขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ดินฉบับที่ 13 พ.ศ 2537 และประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ 2549 ว่า ตนเห็นด้วยกับสมาชิกที่เสนอญัตติด้านที่ดิน ทรัพย์สินและที่อยู่อาศัย เพราะเป็นปัจจัยหนึ่งในการดำรงชีวิตของพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องเกษตรกรจากจังหวัดพิษณุโลกซึ่งเป็นบ้านของตนด้วย โดยใน จ.พิษณุโลกเป็นโซนที่ราบสูง ใน อ.วังทองและ อ.เนินมะปราง มีปัญหาค่อนข้างเยอะเกี่ยวกับเรื่องที่ดินและเอกสารสิทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อ.วังทอง มีที่ดินประมาณ 120,000 ไร่มีเอกสารสิทธิ์ประมาณ 50,000 ไร่ ส่วน อ.เนินมะปราง มีที่ดินประมาณ 62,000 ไร่ มีเอกสารสิทธิ์ประมาณ 4,000 กว่าไร่ ไม่ถึง 10% ของที่ดินทั้งหมด และเอกสารสิทธิ์ที่มีนั้นไม่ใช่โฉนด นส.3 อย่างเดียว แต่มีทั้ง สปก. 3 และอื่นๆ
ทั้งนี้ ในพื้นที่ อ.วังทอง และเนินมะปราง จะเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างพัฒนายาก เพราะระเบียบกฎหมายของป่าไม้ ไม่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำงบประมาณต่างๆ เข้าไปสร้างความเจริญให้กับประชาชนในพื้นที่ได้เลย เอกสารสิทธิจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตของพี่น้องเกษตรกรเป็นอย่างสูง เอกสิทธิ์ที่ได้รับมาโฉนด นส. 3 สปก. หน่วยงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปได้แต่หากเป็นพื้นที่ป่าสงวน ป่าไม้ป่าเสื่อมโทรมจะไม่สามารถเข้าไปทำกิจกรรมใดๆ แม้แต่พี่น้องในเขตเลือกตั้งของตนในเขต อ.วังทอง อ.เนินมะปราง อาศัยอยู่มาแต่หลวงปู่ย่า รุ่นตารุ่นยายนับเป็นร้อยๆ ปีแล้ว จะเจาะบ่อเวลาฤดูแล้งก็ไม่ได้ หรือจะทำอาชีพเลี้ยงปลาก็ทำไม่ได้เช่นกัน ทำให้เป็นปัญหาอย่างยิ่ง
นายพงษ์มนู กล่าวต่อว่า ตนหวังว่ารัฐบาลชุดนี้จะเป็นที่พึ่งสำหรับพี่น้องเกษตรกรใน อ.วังทอง และเนินมะปราง ว่าจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วยการที่ได้รับเอกสารสิทธิ์ซึ่งเป็นโฉนด ถ้าเป็นเอกสารสิทธิ์อื่นๆ ซึ่งรัฐบาลหลายยุคหลายสมัยได้ทำมาแก้ไขมา มีทั้งประสบความสำเร็จบ้างไม่ประสบความสำเร็จบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอกสารสิทธิ์เป็น สปก 4-01 ในพื้นที่ อ.วังทอง และเนินมะปราง ก็มีเอกสิทธิ์เหล่านี้เช่นกัน และตอนนี้เริ่มมีปัญหาแล้วเพราะมีประชาชน ราษฎรในเขตตำบลที่ตนอยู่ในพื้นที่มาแต่ปู่รุ่นพ่อมาถึงเขาประมาณร้อย 120 ปี แต่วันนี้ไม่ได้มีอาชีพเกษตรกรเหมือนพ่อแม่เพราะพ่อแม่ต้องการให้ลูกได้ดี ส่งลูกหลานไปเรียนแต่มีข้อจำกัดกฎหมายประกาศว่าเอกสารสิทธิ สปก.นั้นจะจำหน่ายจ่ายโอนแจกจ่ายไม่ได้นอกจากมรดกตกทอด
อย่างไรก็ตาม บังเอิญมีครอบครัวที่เขามีลูกน้อย มีลูกคนเดียวเมื่อพ่อตาย และเขาไม่มีอาชีพเกษตรกรเพราะฉะนั้นบ้านที่เคยอยู่มา 50-60 ปี กับพ่อกับปู่เขานั้น วันนี้เขาไม่สามารถรับมรดกได้เพราะฉะนั้นที่ดินของเขาจะถูกจำหน่ายไปเป็นที่ดินของรัฐ ทำให้เกิดความเจ็บช้ำน้ำใจอย่างยิ่ง ดังนั้นหวังว่าสิ่งใดก็ตามที่รัฐบาลนี้เคยดำเนินการไว้และกล่าวไว้ว่าจะมีการออกเอกสารสิทธิ์ในจำนวน 50 ล้านไร่ให้กับประชาชนทั่วประเทศ ก็หวังว่าประชาชนในเขต อ.วังทอง และ อ.เนินมะปรางจะได้รับประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ด้วย