Skip to content
Home » สส. รวมไทยสร้างชาติหนุนตั้งกรรมาธิการฯ แก้ปัญหาภัยแล้ง

สส. รวมไทยสร้างชาติหนุนตั้งกรรมาธิการฯ แก้ปัญหาภัยแล้ง

สส.รวมไทยสร้างชาติประสานเสียงอภิปรายหนุนตั้งกรรมาธิการวิสามัญฯแก้ปัญหาภัยแล้งรับมือปรากฎการณ์เอลนีโญอย่างจริงจัง กระทุ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทำงานประสานกันอย่าให้เกิดช่องว่าง

เมื่อวันที่ 20 กันยายน นายวิชัย สุดสวาสด์ สส.ชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อภิปรายสนับสนุนการเสนอญัตติด่วนขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบ และนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ว่า ประเทศไทยขณะนี้กำลังประสบปัญหาภัยแล้งจากการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศโลก เพราะโลกกำลังเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ ตามประกาศขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก และกรมอุตุนิยมวิทยาประเทศไทย ซึ่งคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะได้ผลรับผลกระทบอย่างรุนแรงเป็นระยะเวลายาวนานต่อเนื่องไปจนถึงปี 2070 ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรที่จำเป็นจะต้องใช้น้ำ

ทั้งนี้ ปัญหาภัยแล้งดังกล่าวยังทำให้เกิดปัญหาในด้านอื่น เช่น ไฟป่า สัตว์ป่าขาดแคลนน้ำในการดำรงชีวิต ตนจึงได้ขอเสนอญัตติด่วนเพื่อให้สภาฯตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาตรวจสอบ กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งดังกล่าว

นายวิชัย กล่าวด้วยว่า เมื่อต้นปี พ.ศ 2566 พบว่ามีปัญหาภัยเเล้งเกิดขึ้นทั่วประเทศ ปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภคน้ำที่ใช้ในครัวเรือน การประปาส่วนภูมิภาค ประปาท้องถิ่น และประปาหมู่บ้านต่างๆ การขาดแคลนน้ำอย่างหนัก จึงคิดว่าการเสนอญัตตินี้มาถูกทางเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ ต้องทำงานแบบบูรณาการร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาชาวจังหวัดชุมพรที่พื้นที่รับผิดชอบของตนนั้น มีความเดือดร้อนเรื่องน้ำอุปโภค บริโภคอย่างสูง โดยเฉพาะในช่วงของภัยเเล้ง เกษตรกรชาวสวนทุเรียนขาดแคลนน้ำถึงขนาดต้องทะเลาะแย่งน้ำกันในหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีปัญหาน้ำทะเลหนุนทำให้น้ำกลายเป็นน้ำเค็มเมื่อเจาะน้ำบาดาลลงไปก็ไม่สามารถนำมาใช้กับพืชสวนเกษตรได้ ทุเรียนยืนตายจำนวนมาก ชาวสวนผลไม้ สวนทุเรียน หมดเนื้อประดาตัวมาตลอด

นายวิชัย กล่าวด้วยว่า ขอฝากถึงหน่วยงานทุกหน่วยงานที่มีส่วนร่วมและมีส่วนป้องกันและแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร เพราะปัญหาเกิดขึ้นแล้วยาวไปถึงประมาณปีหน้า ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าได้นิ่งเฉย ขอให้รีบทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน โดยเฉพาะกรมทรัพยากรน้ำบาดาลต้องจริงจังในการสำรวจ และหาจุดที่จะทำน้ำประปาเพื่อการเกษตร ให้กับชาวจ.ชุมพร และพี่น้องทั่วประเทศ เนื่องจากปัญหาไม่ได้สร้างผลกระทบแค่ จ.ชุมพรอย่างเดียวแต่เกิดขึ้นกับจังหวัดอื่นด้วย เช่น จ.สุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่าที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ปัจจุบันต้องซื้อน้ำให้นักท่องเที่ยวใช้ ดังนั้นปัญหาภัยแล้วจึงปัญหาหลักที่ร้ายแรงรอการแก้ไขปัญหา

“ผมในฐานะผู้ยื่นญัตติขอวิงวอนถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้กรมชลประทานออกไปสำรวจหาแนวทางแก้ไขปัญหา เหมือนจ.ชุมพร แนวทางในการแก้ไขปัญหาคือ อยากให้เกิดเขื่อนท่าแซะอย่างเป็นรูปธรรม มีการศึกษาหาแนวทางออกเป็นแบบเรียบร้อย แต่ไม่ทราบว่าไปติดอยู่หน่วยงานไหนอยู่ ปัจจุบันจึงยังไม่ก่อสร้าง ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้กรมชลประทานออกไปสำรวจแล้วหาแนวทางในการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ให้กับจ.ชุมพร โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอสวี อำเภอหลังสวน อำเภอพะโต๊ะ อำเภอละแม อำเภอทุ่งตะโก ต้องมีอ่างเก็บน้ำ”นายวิชัยกล่าว

นายวิชัย กล่าวด้วยว่า ในการยื่นญัตติตั้งใจตั้งใจที่จะให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันกับกระทรวงที่รับผิดชอบ ไม่ใช่ว่าตั้งเป็นคณะกรรมาธิการศึกษาแล้ว แค่มาพูดมาคุยปล่อยให้ประชาชนประสบปัญหากันต่อไป เพราะที่ผ่านมายังไม่มีการแก้ไขปัญหาเรื่องอ่างเก็บน้ำไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็กขนาดใหญ่ รวมถึงเรื่องน้ำหลาก ฝนตกนิดหน่อยน้ำเข้าท่วมพัดพาดินลงสู่ทะเลหมด เพระไม่มีที่กักเก็บไว้ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงานบูรณาการกับท้องที่ ท้องถิ่น และตนดีใจที่ยื่นญัตติแล้วมีเพื่อนสมาชิกเห็นด้วยร่วมอภิปรายร่วม 50 คน ทำให้เห็นว่าสภาฯ แห่งนี้ทุกคนมีจิตใจที่อยากจะแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ทำงานโดยไม่ต้องคิดว่าเป็นฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน

ด้าน ดร.ปรเมษฐ์ จินา สส.สุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อภิปรายว่า จากประสบการณ์ และข้อมูลด้านวิชาการต่าง ๆ ไม่ได้แค่เพียงปรากฎการณ์เอลนิโญเท่านั้น ที่ส่งผลกระทบอุณหภูมิของโลก แต่ยังมีหลายปัจจัยทางอ้อมที่มาเกี่ยวข้อง ตัวอย่างเรื่องสัตว์ป่าที่ต้องอพยพมาหากินในพื้นที่แปลงเกษตรของชาวบ้าน บางครั้งทำลายทรัพย์สิน บางครั้งไล่ทำลายยานพาหนะ บ้านเรือนด้วย ดังนั้น ต้องการให้ช่วยกันเสนอทางออก ให้มีการทำงานกันอย่างจริงจัง เพราะปัจจุบันไม่ว่าพื้นที่ไหนก็ได้รับผลกระทบทั้งหมด

ดร.ปรเมษฐ์ ย้ำว่า จึงต้องการให้ช่วยกันกำหนดแนวทางแก้ไข และแจ้งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำแห่งชาติ ว่าควรต้องมีการปฏิรูป แต่ตอนนี้ ไม่รู้ว่าดำเนินการไปถึงขั้นตอนไหน อย่างไร และขอให้สิ่งที่สมาชิกเสนอนำไปต่อยอด โดยเฉพาะเรื่องที่คิดว่าควรจะต้องมีการปฏิรูป เรื่องการจะตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ จะมีรูปแบบไหน เพื่อดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ แต่ในส่วนที่เป็นแหล่งน้ำที่อยู่นิ่งๆ เช่น บึง หนอง หรือบางพื้นที่มีขุดเหมือง ก็จะต้องมีการบริหารจัดการรอบลุ่มน้ำดังกล่าว เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็น

ดร.ปรเมษฐ์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ แม้จะไม่ใช่ช่วงเอลนิโญก็พบว่ามีสงครามการแย่งน้ำ เช่นใน จ.ชุมพรและจ.สุราษฎร์ธานี เพราะปัจจุบันสภาการเกษตร หรือหน่วยงานต่างๆ ได้ลงไปเปลี่ยนแปลงวิถีของเกษตรกรภาคใต้ จากทำสวนยางพารา เป็นสวนผลไม้ ผลจากการตลาดทำให้ส่วนใหญ่อยากปลูกทุเรียน ดังนั้นคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำแห่งชาติ ควรลงไปดูโครงการของกรมชลประทานของกระทรวงเกษตรฯ ที่มีหลายโครงการ บางโครงการลงทุนเป็นพันล้าน แต่ยังใช้งานไม่ได้ แม้จะส่งมอบงานกันเรียบร้อยแล้วก็ตาม

“ผมอยากเสนอว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือเทศบาลมีโครงการจัดซื้อรถ เพื่อเจาะบ่อน้ำตื้น เจาะบ่อบาดาล แต่ติดขัดในเรื่องของอำนาจ ข้อกฎหมายต่างๆ บางครั้งตั้งเรื่องมาเป็นปี แต่ไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อได้ จึงอยากให้กระทรวงมหาดไทย และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ปรับแก้ระเบียบให้หน่วยงานท้องถิ่นดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว สะดวก ทันกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น

ดร.ปรเมษฐ์ กล่าวต่อว่า ภัยแล้งไม่ได้มีผลกระทบเฉพาะในส่วนของการเกษตร หรือว่าแหล่งน้ำอย่างเดียว แต่กระทบเรื่องของสุขภาพ ที่ผ่านมาจะพบว่าคนไทยต้องเจอกับโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นมาจากการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศ เช่น ไฟไหม้ประเทศเพื่อนบ้านที่ส่งควันมาสู่ประเทศไทย คนที่เป็นโรคปอดอุดตันเรื้อรัง หรือ ซีโอพีดี ต้องทรมานมากจนต้องไปนอนครอบให้ออกซิเจนที่โรงพยาบาล ฉะนั้นก็อยากจะให้ทุกภาคส่วน ต้องมานั่งคุยกันและจริงจังเรื่องการแก้ปัญหาครั้งนี้

ขณะที่ น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ สส.สุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อภิปรายสนับสนุนว่า ในแต่ละปีภัยแล้งได้สร้างความเสียหายให้เกษตรกรเป็นอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานีประชาชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 70 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รายได้ส่วนใหญ่ของจังหวัดมาจากภาคการเกษตร เป็นรายได้หลักในการขับเคลื่อนธุรกิจของจังหวัด ถ้าช่วงใดชาวบ้านสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ดี ช่วงนั้นเศรษฐกิจภาพรวมจะดีตามไปด้วย แต่ถ้าช่วงใดการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อยเศรษฐกิจภาพรวมจะซบเซา จึงถือได้ว่า อาชีพเกษตรกรรมมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของจ.สุราษฎร์ธาน

น.ส.วชิราภรณ์ กล่าวด้วยว่า ทุกวันนี้ประชาชนลำบากขาดรายได้พืชผลทางการเกษตรไม่ดีเนื่องจาก 1.ปัญหาภัยแล้ง พอเข้าช่วงหน้าแล้งเกษตรกรจะขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้และน้ำทางด้านเกษตรอย่างรุนแรง 2.แหล่งกักเก็บน้ำที่มีอยู่ส่วนใหญ่มีสภาพชำรุดเสียหายหลายแห่ง ใช้การไม่ได้ 3.บางแห่งมีแหล่งกักเก็บน้ำแต่ไม่มีแหล่งชลประทานกระจายน้ำให้เกษตรกรใช้อย่างทั่วถึง และ 4.ลำคลองต่างๆที่อยู่ในพื้นที่มีสภาพตื้นเขิน ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้

“ดิฉันเคยนำปัญหาเหล่านี้มาหารือในสภาฯสมัยประชุมที่ผ่านมา เคยทำหนังสือถึงรัฐมนตรีที่รับผิดชอบมาหลายหนขอให้มีการจัดสร้างแหล่งเก็บน้ำทั้งอ่างเก็บน้ำ ฝาย หรือแก้มลิง และซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำที่ชำรุดและให้จัดสร้างสถานีสูบน้ำและขุดลอกแหล่งน้ำที่ตื้นเขินอีก 17 ในหลายอำเภอแต่โครงการที่ได้นำเสนอไม่มีความคืบหน้า จึงอยากฝากและขอไปยังกระทรวงเกษตรฯ รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนโปรดให้ความสำคัญ กับการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ด้วย เพราะเป็นผลกระทบต่อความเป็นอยู่และความอยู่รอดของประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกร