Skip to content
Home » รวมไทยสร้างชาติสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ต่อยอดจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา

รวมไทยสร้างชาติสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ต่อยอดจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา

รวมไทยสร้างชาติสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ต่อยอดจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมาเพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรือง ประชาชนดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข มีสวัสดิการที่ดีวอนฝ่ายค้านอย่าให้ข้อมูลบิดเบือนหวังผลทางการเมือง
.
เมื่อวันที่ 11 กันยายน ที่รัฐสภา มล.ชโยทิต กฤดากร สส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้อภิปรายระหว่างการแถลงนโยบายของรัฐบาล ว่า ในฐานะที่เคยเป็นผู้แทนการค้าไทยในรัฐบาลที่ผ่านมา เป้าหมายที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจในอาเซียน พรรครวมไทยสร้างชาติได้จัดทำนโยบายด้านเศรษฐกิจเพื่อให้พัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรือง ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข มีสวัสดิการที่ดี มีสังคม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยยึดถือความเท่าเทียมกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จากความร่วมมือปรองดองกันของทุกฝ่าย
.
ทั้งนี้ หากพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจจะมองเพียงเศรษฐกิจภายในประเทศคงไม่เพียงพอ เพราะประเทศไทยพึ่งการส่งออกถึง 70% มีการค้าขายกับต่างประเทศจำนวนมาก ปัจจุบันจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจ ทำให้เกิดการปรับโคงสร้างทางอุตสาหกรรมและทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิต ของประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ ทั้งชาติตะวันตก หรือ เอเซีย เช่น ประเทศจีน มาสู่กลุ่มประเทศอาเซียน จึงถือเป็นโอกาสของประเทศไทยด้วยที่รับการย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมดังกล่าว ให้เป็นฐานการผลิตที่สะอาด และปราศจากความขัดแย้ง โดยอุตสาหกรรมมวลรวมของไทยประกอบด้วย อุตสาหกรรมรถยนต์,อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์,อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และ อุตสาหกรรมการเกษตร
.
มล.ชโยทิต กล่าวว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายลดราคาพลังงานทันทีถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน อยากจะฝากว่านโยบายดังกล่าวขอให้เกิดภาระกับงบประมาณน้อยที่สุด หากต้นทุนพลังงานลดลง หรือการผลิตพลังงานในประเทศมีมากขึ้น มีต้นทุนต่ำกว่าการนำเข้า รัฐบาลเก็บรายได้มากขึ้นก็สามารถที่จะเก็บภาษีสรรพสามิตได้ และทั้งหมดจะต้องไม่ทำให้เกิดปัญหากับงบประมาณ หรือวินัยการเงินการคลังของประเทศ พรรครวมไทยสร้างชาติจะสนับสนุนนโยบายนี้ตามแนวคิด “หาเงินได้ใช้เงินเป็น” และขอให้พิจารณาการให้ความช่วยเหลือราคาพลังงานให้กับกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มเกษตรกร หรือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการตามโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว หรือกลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า 300 หน่วย ซึ่งเป็น 80% ของครัวเรือนของประเทศไทย
.
มล.ชโยทิต กล่าวต่อว่า พรรครวมไทยสร้างชาติเห็นด้วยกับการสนับสนุนผลักดันการใช้พลังงานสะอาด เพราะถือเป็นการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรมใหม่ ที่จะส่งต่อค่าแรงที่เพิ่มขึ้น แต่หากสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำทุกอย่างก็ทำไม่ได้ ที่ผ่านมาการผลักดันให้อุตสาหกรรมของประเทศไทยมุ่งหน้าไปสู่อุตสาหกรรมสะอาดนั้น รัฐบาลที่แล้วก็ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ประกาศให้กับชาวโลกได้เห็นในเจตนารมณ์นี้แล้วในการประชุม COP 27 ว่าภายในปี 2050 เราจะเป็นกลางในการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ประกาศได้อย่างชัดเจน
.
นอกจากนี้ แผนแม่บทที่ไทยได้ทำขึ้นเพื่อขจัดคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากการผลิตไฟฟ้า และน่าเชื่อได้มากที่สุดในอาเซียน ทั้งยังได้รับการชื่นชมทั้งจาก เวิลด์ แบงก์, ไอเอ็มเอฟ, หรือ ในการประชุมเอเปกที่ผ่านมาด้วย โดยในปี 2030 ไทยจะลดคาร์บอนไดออกไซด์ 30 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มพลังงาน หมุนเวียนปี 2040-2050 ให้เป็น 50 เปอร์เซ็นต์ และใช้แก๊ส 50 เปอร์เซ็นต์ และผลดีจากการใช้พลังงานสะอาดคือ ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนได้ โดยล๊อตแรกที่จะนำมาลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 30 เปอร์เซ็นต์ จะต้องมี พลังงานสะอาด เข้ามาในระบบ 10,000 เมกะวัตต์ ซึ่งได้เริ่มประมูลไปแล้วตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ราคาของพลังงานสะอาดที่ประมูลเข้ามาอยู่ที่ราคา 2.18 บาทเท่านั้น จะถูกกว่าการผลิตไฟฟ้าที่จะนำเข้ามาจากต่างประเทศ
.
สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า การที่จะมีพลังงานสะอาดขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศไทย ถือว่าประเทศไทยมีบุญเพราะไทยมีในการกักเก็บคาร์บอนทั้ง ในทะเล คือ ที่กักเก็บแก๊สธรรมชาติ หรือ โพรง น้ำเค็มที่อยู่ในทะเลที่ได้ค้นพบไปแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มน้ำเค็มที่อยู่ใกล้ ๆ ระหว่าง จ.ระยอง ที่เป็นพื้นที่น้ำตื้นมากและสามารถที่จะเก็บคาร์บอนได้ 10,000 ล้านตัน ตนอยากจะอธิบายให้เห็นภาพคือ คาร์บอนของประเทศไทยวันนี้เหมือนกับกระต่าย หากเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียน เพราะปัจจุบันในอาเซียนยังเผาถ่านหินเป็นหลักเพื่อผลิตไฟฟ้า แต่ไทยใช้ถ่านหินอยู่เพียง 15 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ในส่วนของการปล่อยคาร์บอนฯ ประเทศไทยปล่อยเพียง 1 ใน 4 หรือ 1 ใน 5 ของประเทศอาเซียนที่เป็นคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย เวียดนาม หรือ มาเลเซีย ทั้งหมดปล่อยเกินพันล้านตัน ประเทศไทยปล่อยเพียง 300 ล้านตันต่อปีเท่านั้
.
นอกจากนี้ การหาที่กับเก็บคาร์บอนของไทยไม่ใช่เฉพาะในทะเลอย่างเดียว แต่ไทยยังเจอโพรงสำหรับกักเก็บคาร์บอนฯ ในภาคเหนือด้วยคือที่ลำปาง หรือที่ใกล้ๆ กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่ยังคงลิกไนซ์ ซึ่งมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 70 สตางค์ ต่อยูนิต เป็นพลังงานที่ถูกอยู่ในประเทศไทย แต่ถ้าเราสามารถจะผลิต และกักเก็บคาร์บอนฯ ไว้ในโพรงถ่านหินที่ได้มีการทดสอบและดำเนินการทางเทคนิคอยู่ในขณะนี้ ก็จะสามารถเก็บคาร์บอนฯ ได้เป็นระยะเวลากว่า 20 ปี ในแง่ศักยภาพในการเก็บ โดยที่ผ่านมาก็ได้เงินสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นด้วยโดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นเจ้าของพื้นที่ และสามารถนำจุดนี้มาสานต่อในการพัฒนาอุตสาหกรรมในระเบียงเศรษฐกิจในแต่ละภาค
.
อย่างไรก็ตาม อยากจะฝากรัฐบาลใหม่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ถูกต้องให้กับประชาชน เพราะที่ผ่านมามีการหยิบยกเรื่องไฟฟ้าแพง หรือระบุว่าประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟมากเกินไปหรือไม่ นำมาสื่อสารโดยหวังประโยชน์ทางการเมือง ทำให้เกิดความเข้าใจผิด โดยเรื่องราคาไฟฟ้าของประเทศไทยที่บอกว่าแพงกว่าประเทศในอาเซียนจำนวนมาก แต่หากดูจากตารางจะเห็นได้ว่า ของไทยอยู่ในระดังกลาง ๆ ส่วนที่แพงกว่าก็มีเหตุผล เพราะประเทศที่มีไฟฟ้าถูกกว่าเรานั้นเกิดจากการเผาถ่านหิน แต่ไทยทำน้อยกว่า ถ้าทำเช่นนั้นประเทสไทยก็จะไม่บรรลุเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรม และจะส่งผลต่อการพิจารณาการลงทุนจากต่างชาติ
.
มล.ชโยทิต กล่าวว่า เรื่องของกำลังไฟฟ้าสำรองที่พูดกันมากว่าประเทศไทยมี 50- 60 เปอร์เซ็นต์ ก็อยากให้มีการประชาสัมพันธ์ และการศึกษาอย่างจริงจังว่าประเทศไทยมีกำลังไฟฟ้าสำรองเท่าใดกันแน่ ตัวเลขที่กระทรวงพลังงานชี้แจงออกมาคือ 25 – 30 เปอร์เซ็นต์ เพราะได้มีการนับพลังโซลาร์เป็น 24 ชั่วโมง ซึ่งโซลาร์จะนับเป็น 24 ชั่วโมไม่ได้ ต่อมาที่มีการบอกว่าวิธีการคำนวณค่าไฟฟ้าแบบเน็ตเมทเทอริ่ง ซึ่งจะทำให้ประชาชนจ่ายไฟน้อยลง หรือ เปิดไฟฟ้าเสรี ก็ต้องไปศึกษาว่าดีจริงหรือไม่ เพราะที่ต่างประเทศที่ทำไปแล้วก็มีทั้งดีและไม่ดี บางประเทศไฟดับ ขาดทุนกันย่อยยับ ประชาชนมีปัญหา ฉะนั้นคุณภาพ ของไฟฟ้า ก็ดี หรือ ระบบที่จะนำมาใช้เพื่อให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายลดลงต้องศึกษาอย่างละเอียด โดยพรรครวมไทยสร้างชาติพร้อมที่จะสนับสนุนรัฐบาล ผลักดันนโยบาย พลังงานพลังงานสะอาดเพื่อชูให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาดในระดับสากล และมีเสถียรภาพ ในการจัดหา ที่มั่นคง และ ราคาเป็นธรรม เหมาะสม กับการพัฒนาประเทศ และดูแล ผู้เปราะบางอย่างเหมาะสม ต่อไป
.
นอกจากนี้ ตนอยากจะพูดถึงโครงสร้างอุตสาหกรรม ของประเทศไทยที่ได้ปรับเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมใหม่ๆ เข้ามา โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และ ดิจิทัล ซึ่งหากไทยไม่มีแผนที่ชัดเจน ก็จะไม่มีต่างชาติเข้ามาลงทุน ประเทศไทยเป็นฐานผลิต รถยนต์ ปีละ สองล้าน คัน อยู่ที่ 9 ของโลก แต่เป็นรถยนต์น้ำมัน ถ้าเราไม่ตื่นตัวเมื่อ 2 ปีก่อนโปรโมทว่าจะเป็นฐานของรถไฟฟ้าอย่างไร ประเทศไทยจะเป็นเพียงแหล่งผลิตรถยนต์น้ำมัน สุดท้ายจะตายกันทั้งประเทศ เพราะ 10 เปอร์เซ็นต์ ของ จีดีพี หายไปไม่มีวันกลับมา รวมทั้งอิเล็กทรอนิกส์ วันนี้ความสำเร็จของประเทศไทยในอุตสาหกรรมอีวี ได้รับการตอบรับทั้งเจ้าเดิมที่อยู่ในประเทศไทย เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป หรือ อเมริกา และตอนนี้ยังมีทัพรถอีวี จีน เกือบทุกค่ายเข้ามาเซ็นต์สัญญาที่จะผลิตรถยนต์อีวีในประเทศไทย รวมถึงระบบนิเวศน์ที่จะผลิตแบตเตอรี่ ในประเทศไทยด้วย ซึ่งถือเป็นความสำเร็จ ที่ไม่ใช่ไทยเป็นเจ้าการผลิตรถยนต์ในอาเซียนแล้ว
.
มล.ชโยทิต กล่าวว่า เรื่องนี้ก็จะต่อไปยังอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ วันนี้ก็ใหญ่ไม่แพ้รถยนต์ แต่เป็นอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์ เกี่ยวกับการประกอบเทสติ้งในประเทศ ที่เขาอยากจะให้เราทำในเรื่องของ กลางน้ำ และ ต้นน้ำ มากขึ้น เช่น ผลิต ไมโครชิฟ หรือ อิเล็กทรอนิกส์ อัจฉริยะ ป้อนอุตสาหกรรมอีวี ซึ่งตัวเลขการลงทุนของบีโอไอปีนี้มากกว่าปีที่แล้วเพิ่มขึ้นมาอย่างมีนัยยสำคัญ มาก ๆ โดยในปีนี้เพิ่มขึ้น 70 เปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 70 เปอร์เซ็นต์เหมือนกัน ดังนั้นการลงทุนจากต่างประเทศ 7 แสนล้านแบบนี้เราไม่ได้เห็นมานานแล้ว ในรอบ 10 ปี ถ้าเรามีความมุ่งมั่น เชื่อว่าล้านล้านบาทก็สามารถทำได้แน่นอน
.
นอกจากนี้ ในแง่ของในประเทศ ยังอยากจะผลักดันเรื่องระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค ภาคเหนือ มีพลังงานถ่านหินสะอาด (Clean Coal) เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม สร้างสรรค์ของประเทศ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีอยู่แล้ว ที่ จ.ลำพูน ภาคอีสาน เป็น เรื่องของไบโออิโคโนมี่ ที่รัฐบาลที่แล้วผลักดัน เป็นเรื่องของ โปรตีน ทดแทนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของเวลเนส เซ็นเตอร์ หรือ อาหารฮาลาลภาคใต้ที่มีการพูดคุยว่าจะสร้างตลาดกับซาอุดิอาระเบีย หลังเปิดสัมพันธไมตรีรอบ ที่ หรือจะทำให้ ภาคใต้ เป็น ศูนย์กลางของการพัฒนาแปรรูปยางพารา ของระดับภูมิภาคในพื้นที่ภาคใต้ ส่วนภาคกลาง กับ ภาคตะวันออก มีอีอีซี อยู่แล้วยังมีเขื่อนศรีนครินทร์ที่จะสามารถสร้างอุตสาหกรรมตะวันตกเพิ่มเติมนอกจากภาคตะวันออกได้อีก
.
“มาถึงวันนี้ ต้องบอกว่าประเทศไทยเรามีทุกอย่างดีหมด ขอให้เราทำในสิ่งที่เราได้วางแผนไว้ ต่างชาติก็ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจและมาลงทุน เป็นกอบเป็นกำ จึงอยากจะวิงวอนขอให้ทุกคนเลิกด้อยค่าประเทศไทย ประเทศไทย มีดี หลายอย่าง ครับ โดยเฉพาะ ใน โลกสมัยใหม่ที่กำลังขับเคลื่อนกันอยู่ในขณะนี้ เรามีบทบาท และเรามีฐานที่ ชัดเจน ถ้าเราทำทุกสิ่งทุกอย่าง เหล่านี้ได้เราจะมีเอกภาพ และความสำเร็จ และขอให้ เออ เลิกทะเลาะ เพื่อให้ประเทศเรานั้นเดินหน้าต่อไปได้ต่อไปครับ” มล.ชโยทิตกล่าว