Skip to content
Home » “อนุชา บูรพชัยศรี” ชูกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 คลัสเตอร์

“อนุชา บูรพชัยศรี” ชูกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 คลัสเตอร์

อนุชา บูรพชัยศรี” สส.รวมไทยสร้างชาติชูกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 คลัสเตอร์ ต่อยอดการลงทุนใน EEC มุ่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย พร้อมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม นายอนุชา บูรพชัยศรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระการประชุมรับทราบรายงานประจำปี 2565 ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) โดยระบุว่า ตนอยากจะเน้นย้ำถึงความสำคัญที่เชื่อมโยงมาจากเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นแผนระดับที่ 1 เรื่องความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนของอนาคตประเทศไทยในปี 2580

ต่อมาเป็นเรื่องของแผนระดับที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งตอนนี้เป็นฉบับที่ 13 และในวันนี้ตนอยากจะชี้แจงให้เห็นถึงแนวคิดในการดำเนินงานของเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (EEC) ที่มาจากแผนระดับที่ 1 ของยุทธศาสตร์ชาติ มาถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จนมาถึงแนวทางปฎิบัติที่จะทำอย่างไรให้เดินไปถึงเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าว

นายอนุชา กล่าวต่อว่า แนวคิดสำคัญของรัฐบาลที่ผ่านมาที่เกี่ยวข้องกับอีอีซี (EEC) เป็นที่ทราบกันดีว่ามีการดำเนินการในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออกได้แก่ ชลบุรี ระยอง และ ฉะเชิงเทรา หรือ Eastern Economic Corridor และยังมีการพัฒนาไปอีก 7 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจเพื่อกิจการพิเศษ ได้แก่

EECh เป็นเขตส่งเสริมรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบินคือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ ไปยัง อู่ตะเภา

สำหรับ EECd เป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนประเทศเป็น Digital Innovation Hub ของอาเซียน

EECmd : เขตส่งเสริมศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจรธรรมศาสตร์ที่อยู่ที่พัทยา ซึ่งจะเป็นการยกระดับความมั่นคงด้านสุขภาพรองรับสังคมผู้สูงอายุที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมี EECi ซึ่ง I ย่อมาจาก Innovation เขตส่งเสริมนวัตกรรมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเพื่อยกระดับประเทศไทยสู่ “ผู้ส่งออกนวัตกรรม” ของโลก

ต่อไปคือ EECa หรือเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก เพื่อให้ไทยเป็น “ศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub)” และต่อยอดเชิงธุรกิจ รวมถึง“เขตประกอบการค้าเสรี (EECa Free Trade Zone)” สำหรับกิจกรรมการท่องเที่ยวและสันทนาการให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ประเทศไทยมีภูมิศาสตร์ และพื้นที่เหมาะสมอยู่แล้ว ดังนั้นต้องคิดว่าเราจะต่อยอดธุรกิจนี้อย่างไร นี่คือสิ่งที่ต้องตอบโจทย์และเดินหน้าต่อไป

นายอนุชา อภิปรายอีกว่า ต่อไปเป็นเรื่องของ EECg หรือเขตส่งเสริมการแพทย์จีโนมิกส์ ในอนาคตจะต้องมีการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ โดยจะต้องมีการส่งเสริมเทคโนโลยีชั้นสูงฝ

อีกทั้งเรื่องของเทคโนโลยี พาร์ค หรือ EEC Tech Park ที่จะส่งเสริมศูนย์นวัตกรรมดิจิทัล และ เทคโนโลยีชั้นสูงในพื้นที่อีอีซี (EEC)

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญในระยะต่อไปคือการต่อยอดจากเดิมที่เคยมีการพูดถึง 5 อุตสาหกรรมเดิม (S – curve) ที่ประกอบด้วยอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่, อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ โดยจะต้องพัฒนาต่อเนื่องกันไปอีก 7 อุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve) ได้แก่ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ, หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์, อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมพัฒนาคนและการศึกษา รวมทั้งสิ้นเป็น 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญในการพัฒนาประเทศจากนี้ไป

ทั้งนี้ ในการผลักดันการลงทุน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าว เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งเพื่อตอบโจทย์การลงทุน ในระยะต่อไป จึงได้มีแนวคิดการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ออกเป็น 5 คลัสเตอร์สำคัญ เพื่อพัฒนาและดึงดูดการลงทุนกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องประกอบด้วย กลุ่มแรกได้แก่ อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ที่จะต้องต่อยอด เน้นการบริหารจัดการเพื่อยกระดับการให้บริการด้วยเทคโนโลยี ทั้งในเรื่องของ จีโนมิกส์ หรือการแพทย์ที่แม่นยำ

คลัสเตอร์ที่ 2 คือ อุตสาหกรรมดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ ที่จะต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมาย ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ หุ่นยนต์ โดยการนำ 5G เข้ามาเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมต่าง ๆในอนาคตได้

ส่วนคลัสเตอร์ที่ 3 คือเรื่องของ EV และอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ที่ไม่ใช่แค่เพียงการเป็น OEM อย่างเดียว แต่ไทยจะต้องเป็นฐานการผลิตอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น แบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า หรือ ส่วนประกอบ อื่นๆ ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีคลัสเตอร์ 4 คืออุตสาหกรรมเศรษฐกิจเกี่ยวข้องกับการบริการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอนาคตที่จะต้องเน้นการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการบริการ, การบินและโลจิสติกส์, การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี, การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพก็เป็นอีกเทรนด์หนึ่งในปัจจุบัน รวมถึงอุตสาหกรรมการบริการ อื่นๆ และสุดท้ายที่ตอนนี้ ต้องกล่าวว่าประเทศไทยเราเป็นแชมป์เปี้ยนอยู่ก็คือ คลัสเตอร์ด้านอุตสาหกรรม BCG (Bio-Circula-Green) ที่ได้มีการประกาศไปในประชุมเอเปกไปแล้ว ว่าสิ่ง
ต่างๆ เหล่านี้ไทยเป็นผู้นำในด้านนี้ ซึ่งต่างประเทศเองก็ให้การยอมรับอยู่ในปัจจุบัน

“ฉะนั้นคลัสเตอร์ต่าง ๆ เหล่านี้เราควรต้องผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้เรามีนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผมหวังว่า แนวคิดของการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (EEC) จะให้ก้าวสู่การเป็นต้นแบบการส่งเสริมเศรษฐกิจการลงทุนและการพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถที่จะดำเนินการได้ต่อเนื่องต่อไปตามยุทธศาสตร์ชาติที่ได้วางแผนกันไว้แล้วเพื่อที่จะให้ทุกอย่างได้ดำเนินการต่อไปได้ หากดำเนินการตามแผน ในอนาคตเราไม่ได้มีแค่เฉพาะอีอีซี (EEC) แต่เราจะขยายไปภาคเหนือ เป็น เอ็นอีซี(NEC) เราจะขยายไปภาคใต้ เป็นเอสอีซี (SEC) รวมถึงภาคอื่น ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการพัฒนาครอบคลุมทั่วประเทศไทย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำต่อไปด้วย” นายอนุชากล่าว