Skip to content
Home » กานสินี โอภาสรังสรรค์ สะท้อนปัญหาการก่อสร้าง รพ.สุราษฎร์ธานี ล่าช้า

กานสินี โอภาสรังสรรค์ สะท้อนปัญหาการก่อสร้าง รพ.สุราษฎร์ธานี ล่าช้า

กานสินี โอภาสรังสรรค์ สส.รวมไทยสร้างชาติสะท้อนปัญหาการก่อสร้างรพ.สุราษฎร์ธานีล่าช้าส่งผลให้ผู้ป่วยและประชาชนที่มาใช้บริการไม่ได้รับความสะดวก และขอให้จัดงบฯขยายถนนในเขตชุมชนรองรับเติบโตของเมือง

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่รัฐสภา นางสาวกานสินี โอภาสรังสรรค์ สส.ราษฎร์ธานี เขตเลือกตั้งที่ 1 พรรครวมไทยสร้างชาติ ( รทสช.) อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นำปัญหาของประชาชนใน จ.สุราษฎร์ธานีมาแจ้งต่อสภาฯว่า จากการลงพื้นที่มีประชาชนจำนวนมากให้เร่งติดตามเรื่องโรงพยาบาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีแออัด อาคารที่กำลังก่อสร้างล่าช้า ส่งผลให้ผู้ป่วยและญาติที่มาใช้บริการไม่ได้รับความสะดวก โดยปัจจุบันมีผู้ใช้บริการขั้นต่ำวันละ 2,000 คน จึงอยากให้หน่วยงานรับผิดชอบได้เร่งติดตามเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

นอกจากนั้น ยังมีปัญหาเรื่องการจราจรติดขัดในพื้นที่ ที่มีทั้งโรงเรียน แหล่งชุมชน และตลาด ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรหลัก จึงขอให้มีการขยายถนนเพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัด ประกอบด้วยจุดที่ 1 ถนนเชื่อมไปยังถนนสาย 420 ขึ้นสะพานศรีสุราษฎร์ 2 จากถนนตลาดล่างซอย 16 ข้ามแม่น้ำตาปี เชื่อมไปยังหัวแหลมต่อเนื่องเชื่อมไปยังแม่น้ำคลองขนาด เชื่อมไปยังถนนสาย 402 เชื่อมไปยังสะพานศรีสุราษฎร์ธานี ออกไปยังสนามบิน

ทั้งนี้ จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นเมืองศูนย์กลางแห่งการคมนาคม พื้นที่เมืองเจริญเติบโต การสัญจรไปมาติดต่อได้รอบทิศทาง ช่องทางการจราจรออกนอกเมืองในปัจจุบันยังมีน้อยจึงต้องเพิ่มโครงข่าย ให้สามารถกระจายการจราจรโดยรอบได้ ภายในตัวเมืองมีประชากรและประชากรแฝง มีทั้งศูนย์การศึกษา มหาวิทยาลัยหน่วยราชการระดับศูนย์ภาคใต้ตอนบน จึงขอให้ผู้รับผิดชอบของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้สนับสนุนงบประมาณในการขยายถนน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

นางสาวกานสินี อภิปรายว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมก็ถือว่าสำคัญในพื้นที่มีบึงขนาดใหญ่พื้นที่1,270ไร่เป็นบึงที่สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดและเป็นบึงที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่ในจุดบริเวณพื้นที่รับน้ำระบายออกสู่ทะเลอ่าวบ้านดอนซึ่งในพื้นที่สามารถทำโครงการแก้มลิงแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถพัฒนาได้ตามศักยภาพจากการที่เมืองขยายตัวเร็วทำให้เกิดภาวะน้ำเสียจากครัวเรือนลงสู่บึงจึงขอให้หน่วยงานรับผิดชอบจัดสรรงบประมาณให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อทำระบบบำบัดน้ำเสียทำให้น้ำในบึงสะอาด เพื่อคืนระบบนิเวศกลับมาสู่ความสมบูรณ์