“วิทยา แก้วภราดัย” ตั้งข้อสังเกตป.ป.ช.มีมาตรการเข้มตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินแต่ทำไมประเทศยังมีคอร์รัปชันติดอันดับดับต้นๆ พร้อมเสนอ ประธานป.ป.ช.จนถึงระดับล่าง และข้าราชการทั่วประเทศต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินด้วยเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่รัฐสภา นายวิทยา แก้วภราดัย สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อภิปรายเสนอแนะระหว่างการพิจารณารายงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ต้องขอบคุณคณะกรรมการ ป.ป.ช ที่ให้เกียรติต่อสภาฯมาเต็มคณะชุดใหญ่ ถือเป็นคณะแรกๆ ที่เข้ามาชี้แจงอย่างพร้อมเพียง
ทั้งนี้ ตนขอฝากข้อสังเกตไปถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในด้านการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ 2561 กฎหมายได้ให้อำนาจคณะรรมการ ป.ป.ช ในการกำหนดประเภทบุคคลที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ปรากฏว่า ในรอบปี 2565 ป.ป.ช.ได้ออกคำสั่งทั้งหมด 5 คำสั่ง จำนวน 18 ตำแหน่ง 350 บัญชี ประกาศรายชื่อบุคคลที่จะต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน แต่ตนยังติดใจกรณี ประกาศฉบับแรกตำแหน่งอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ อยากถามว่า อธิการบดีทั่วประเทศ มีนับร้อยคน ไม่ทราบว่าอยู่ในบัญชีที่ต้องแจ้งด้วยหรือไม่
นอกจากนั้น ยังมีบางตำแหน่งที่ประกาศขึ้นมาใหม่ บางตำแหน่งคิดว่าไม่น่าถึงขั้นต้องประกาศแต่กลับประกาศ เช่น ระดับผู้อำนวยการสถานกักขัง ผู้อำนวยการสถานกักกัน บางตำแหน่งประกาศจนสูงมาก เช่น ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รองผู้บัญชาการตำรวจ ผู้บังคับการตำรวจ แต่ถ้าจำได้มีเรื่องที่พันตำรวจเอกโดนยึดทรัพย์ทีละเป็นพันล้าน ต้นอยากเรียนถามและหาหลักเกณฑ์ว่าประกาศของคณะกรรมการ ป.ป.ช ที่ออกมาควบคุมกำกับข้าราชการที่มีตำแหน่ง เอาหลักเกณฑ์อะไรมาวัด ตำแหน่งใดต้องประกาศบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
นายวิทยา กล่าวด้วยว่า ต้องยอมรับว่าป.ป.ช.ภาระงานหนักมาก มีเรื่องค้าง และเรื่องที่ต้องตรวจสอบจำนวนมาก สังคมไทยให้ความเชื่อมั่นองค์กรป.ป.ช. ใครโดนป.ป.ช.สอบหนาวกันทั้งตระกูล ดังนั้นสิ่งที่ตนอยากเห็นคือ การแสดงบัญชีทรัพย์สินสำหรับเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ด้วย ตั้งแต่ ประธานคณะกรรมกร ป.ป.ช.ไปจนถึงระดับล่างประกาศไปถึงขั้นไหน
“ผมอยากถามว่าทำไมประเทศยังติดอันดับต้นๆของการทุจริต คอร์รัปชันไม่ลดเลย เป็นไปได้หรือไม่ตั้งแต่วันแรกของการรับราชการให้ข้าราชการแจ้งบัญชีทรัพย์สินหนี้สินเลยแล้วเปิดเผยต่อสาธารณะ เมื่อระบบเริ่มสะดวกขึ้นจึงขอเสนอ 2 เรื่องคือ 1.ถ้าเราจะปราบทุจริต ให้ข้าราชการทุกคนที่เข้าระบบราชการต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน และต้องแจ้งทุก 5 ปีจนกว่าเกษียณ 2. ป.ป.ช.ที่เป็นองค์กรแสดงถึงความซื่อสัตย์สุจริตมีเจ้าหน้ากว่า 2,000 กว่าคน ให้ประกาศบัญชีทรัพย์สินหนี้สินทั้งหมด จึงน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับองค์กรอื่น” สส.พรรครวมไทยสร้างชาติเสนอ