รองโฆษกรวมไทยสร้างชาติได้รับเชิญเป็นตัวแทนนักการเมืองหญิงจากประเทศไทยร่วมงานสัมมนาเรื่องสิทธิและบทบาทของสตรีในการเมืองของอาเซี่ยน เพื่อร่วมขับเคลื่อนนโยบาย กฎหมาย และโครงการต่าง ๆ ที่มุ่งตอบโจทย์ปัญหาของผู้หญิงมากขึ้น
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นตัวแทนนักการเมืองหญิงจากประเทศไทย ร่วมงานสัมมนาเรื่องสิทธิและบทบาทของสตรีในการเมืองของอาเซี่ยน ASEAN Women Political Leaders’ Coalition for Change forum จัดโดย มูลนิธิเวสต์มินสเตอร์เพื่อประชาธิปไตย (Westminster Foundation for Democracy – WFD) ณ เมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
สำหรับ วาระสำคัญของการหารือของคณะพันธมิตรเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง (Coalition for Change – C4C) คือการร่วมกันผลักดันเรื่องโควต้าทางเพศ (Gender Quata) ในเวทีการเมืองของประเทศต่าง ๆ ในอาเซี่ยน เพื่อให้มีตัวแทนผู้หญิงมีบทบาทในการขับเคลื่อนนโยบาย กฎหมาย และโครงการต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นตอบโจทย์ประเด็นและปัญหาของผู้หญิงมากขึ้น
ทั้งนี้ ในการสัมมนา นางรัดเกล้า ได้เสนอการสร้างกระบวนการวัดระดับพรรคการเมืองที่เป็นมาตรฐานเดียวทั้งอาเซี่ยน เพื่อให้คะแนนว่าแต่ละพรรคการเมืองให้ความสำคัญในการผลักดันเรื่องโควต้าทางเพศมากน้อยขนาดไหน โดยแนะให้เรียนรู้และต่อยอดจากโมเดลที่บริษัทมหาชนต่าง ๆ ต้องแข่งกันทำงานให้มีมาตรฐานด้านความยั่งยืน เพื่อตอบโจทย์การวัดคะแนนความยั่งยืนจาก DJSI Index เพราะการวัดคะแนนดังกล่าว เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่นักลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนในบริษัทต่าง ๆ เช่นเดียวกัน พรรคการเมือง ก็ควรมีการวัดผลและให้คะแนนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญให้ผู้ลงคะแนนเสียงใช่ประกอบการตัดสินใจ
อย่างไรก็ตาม การวัดผลนี้ อาจจะรวมถึงมิติอื่นด้านความยั่งยืนด้วย เช่น มีนโยบายและความจริงจัง ที่จะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไหม มีบุคลากรที่มีคุณภาพและปลอดประวัติอาชญากรรมไหม เป็นต้น การให้คะแนนและจัดอันดับของพรรคการเมืองนี้ จะเป็นตัวชี้วัดว่า ให้ความสำคัญในประเด็นอะไรมากน้อยขนาดไหน
สำหรับ การนำเสนอของ นางรัดเกล้าในครั้งนี้ ได้รับการยกขึ้นเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของการทำงานคณะ C4C ซึ่งประกอบด้วย การตั้งมาตรฐาน (Standards) การขยายผลออกสู่วงกว้าง (Amplified) และกลยุทธ์ในการสร้างแรงขับเคลื่อนแนวคิดสู่การปฏิบัติได้จริง (Pressure Point for Action)
การสัมมนาครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 จากก่อนหน้าที่มีการสัมมนาครั้งแรกที่จาการ์ตา และครั้งที่สองที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งการจับมือกันของคณะ C4C นี้นับเป็นก้าวสำคัญไปสู่การสร้างบทบาทอันเท่าเทียมกันในแวดวงการเมืองของอาเซียน