สส.รวมไทยสร้างชาติอภิปรายเรียกร้อง กสทช.จัดระเบียบสายไฟและสายสื่อสารลงใต้ดินให้เป็นระบบกว่าที่เป็นอยู่ ย้ำต้องบูรณาการให้หลายหน่วยงานทำงานร่วมกันตกผลึกจนเป็นแผนแม่บท แล้วแจ้งประชาชนทราบจะนำสายไฟลงดินเส้นไหน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำเช่นทุกวันนี้
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 5 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) มีการพิจารณาเกี่ยวกับการทำงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่สตง.ได้ตรวจสอบการใช้งบประมาณแล้วนำมารายงานให้สภาฯให้รับทราบ โดย นายอนุชา บูรพชัยศรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้อภิปรายเสนอแนะว่า ถ้าเป็นไปได้การบรรจุระเบียบวาระที่จะมารายงานต่อสภาฯ ถ้าสามารถรวมรายงานของปี 2563 ,2564 หรือ 2565 เข้ามาด้วยในวาระเดียวกันจะเป็นประโยชน์มากกว่า จะสามารถดำเนินการตามที่ประธานสภาฯต้องการได้ คือเคลียร์ของเก่าที่อยู่ในคิว ถ้าเป็นหน่วยงานเดียวกันควรนำเข้ามาพิจารณารวมกันจะเป็นประโยชน์ต่อสภามากกว่า
นายอนุชา อภิปรายว่า เท่าที่รับทราบมาตนพอจะทราบปัญหาและอุปสรรคของกสทช. เพื่อให้หน่วยงานรับไปพิจารณา เรื่องแรกคือ งานที่กสทช.มีภารกิจในการกำกับดูแลนำสายสื่อสารลงใต้ดิน เรื่องนี้คล้ายกับการไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะนำสายไฟลงใต้ดิน แต่ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานอาจไม่ได้พูดคุยกันอย่างเป็นรูปธรรม จำได้ว่า เราเคยมีการพูดกันว่า เวลามีถนนเส้นหนึ่ง หน่วยงานหนึ่ง ขุด และ ฝัง อีกหน่วยงานหนึ่งก็มาขุดใหม่ และฝังใหม่โดยไม่มีการพูดคุยกันว่าจะกลบจะฝังกันเมื่อไหร่พร้อมกัน
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีเคยมีมติครม. เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ให้ กสทช.ไปร่วมกับการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมถึง บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด(มหาชน) ไปพูดคุยกับผู้ประกอบการ โทรคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำแผนบูรณาการจัดระเบียบสายสื่อสาร เสาไฟฟ้าที่ส่วนใหญ่เป็นสายไฟของหน่วยงานที่ ประกอบกิจการ เกี่ยวกับโทรคมนาคมไปฝากเอาไว้ ทั้งสายเคเบิ้ลต่าง ๆสายโทรศัพท์ ซึ่งในปัจจุบันไปอยู่บนเสาทั้งหมด
“ปัจจุบันผู้ประกอบการยังไม่ได้รับข้อมูลมาทั้งหมด จากหน่วยงานอื่น ๆ เพราะอยู่ภายใต้การกำกับของกสทช. บริษัทเหล่านี้จะประสานไปยังกสทช. แต่ข้อมูลที่เกี่ยวกับการนำสายไฟฟ้าลงดินข้อมูลไปไม่ถึง ดังนั้นการดำเนินการที่จะวางแผนร่วมกันตั้งแต่ตอนต้น จึงเป็นปัญหา ไม่สามารถทำครั้งเดียวพร้อมกันไปเลยได้ เป็นที่ทราบกันดีว่าการนำสายไฟลงดินคือการร้อยท่อลงใต้ดิน แต่ท่อเป็นเรื่องของหน่วยงานที่ดูแล เช่นกทม. ในส่วนของต่างจังหวัดเป็นของเทศบาลเมืองหรือเทศบาลนคร ดังนั้นถ้าเป็นไปได้กสทช.ควรจะเป็นตัวกลางในการประสานงานกับทุกหน่วยงาน ที่จะนำสายต่างๆไม่ใช่เฉพาะสายสื่อสาร รวมถึงสายไฟฟ้า สายสื่อสารลงดินพร้อมกันในคราวเดียว จะทำให้ประหยัดงบประมาณ ที่ผ่านมาการจะนำสายลงดินเส้นไหนก่อนหลังอยู่ที่การจัดลำดับความสำคัญ ถ้าทำพร้อมกันไปในคราวเดียวกันก็จะมีประโยชน์มากกว่า”สส.พรรครวมไทยสร้างชาติกล่าว
นายอนุชา กล่าวด้วยว่า ตนได้มีโอกาสไปสอบถามในหลายหน่วยงานว่าเหตุใด บางเส้นมีการนำสายไฟลงดินเพียงบางส่วน แต่ทำไมเสาไฟฟ้ายังมีอยู่ ได้รับคำตอบว่า ผู้ประกอบการสายสื่อสารเพิ่งจะ นำสายเคเบิ้ล ใยแก้ว ไฟเบอร์ออฟติก เส้นใหม่ไปพาดบนสายเสาไฟฟ้าแนวดังกล่าว ถ้าจะให้เขาเอาสายเคเบิ้ล ใยแก้ว ไฟเบอร์ออฟติก ลงใต้ดินอีก ต้องทำใหม่ทั้งหมด จึงมีคำถามตามมาว่าแล้วทำไมไม่คุยกันตั้งแต่แรก นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ตนได้รับคำตอบมา ดังนั้นถ้ากสทช.มีโอกาสได้พูดคุยไม่ว่าจะเป็นเทศบาล กทม. การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะทำให้การใช้งบประมาณน้อยลง ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่จะมารายงานต่อสภาด้วย
นายอนุชาอภิปรายว่า เป็นไปได้หรือไม่กสทช.มีอำนาจเชิญหน่วยงานต่างๆเข้ามาหารือใหม่ จัดสรรกันใหม่เกี่ยวกับแผนงานที่จะนำสายไฟลงดิน เพราะแต่ละหน่วยงานจะมีแผนของตัวเองถ้านำ 2 แผนนี้ทั้งสายไฟฟ้าและสายสื่อสารมาบูรณาการ เพื่อให้เป็นแผนแม่บทแผนเดียว ตนเข้าใจว่าการไฟฟ้าก็มีหน่วยงานที่ดำเนินการไปจนถึงปี 2570 กสทช.ก็มีแผน จึงอยากให้หน่วยงานเหล่านี้นำมารวมกันเป็นแผนแม่บท แล้วบอกประชาชนว่า ในแต่ละปีงบประมาณ หน่วยงานต่าง ๆจะทำสายไฟฟ้าลงดินเส้นไหนบ้าง