ผู้นำเข้า-ส่งออก ร้อง “พีระพันธุ์” ช่วยแก้ปัญหา กรมปศุสัตว์แก้ข้อกำหนดคำนิยามในกฏหมายใหม่ ส่งผลต่อการนำเข้า-ส่งออก “ไข่ไก่” และ “อาหารสัตว์ในกิจการประมง” ได้รับความเดือดร้อนหนัก
เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ประชุมร่วมกับ นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้นำเข้าและผู้ส่งออกระดับมาตรฐานเออีโอและสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย พร้อมคณะ ณ ห้องประชุม 2503 ตึกบัญชาการ 2 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือกรณีผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อนจากการที่กรมปศุสัตว์แจ้งการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ 2558 ล่าช้า ทำให้ผู้กอบการไม่ทราบข้อมูลเพื่อดำเนินการขอใบอนุญาตได้ตามกฎหมาย จนทำให้ถูกกรมศุลกากรบังคับใช้กฎหมายจนทำให้เกิดเป็นความเสียหายย้อนหลัง
นายพรศิลป์ กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวสืบเนื่องจากที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ได้มีการปรับจาก พ.ร.บ.ซากสัตว์ 2499 เป็น พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ 2558 โดยมีการปรับคำนิยามคำว่า “ซากสัตว์” และระบุว่า “ไข่ไก่” อยู่ในคำนิยาม คำว่า “ซากสัตว์” ดังนั้นผู้ที่จะส่งออกจะต้องขอใบอนุญาตส่งออก ตามประกาศกรมปศุสัตว์ 2558 แต่ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ไม่เคยแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการทราบ ทำให้ไม่มีผู้ประกอบการรายใดไปขอใบอนุญาตดังกล่าว จึงทำให้ไม่สามารถส่งออกไข่ไก่ได้ เนื่องจากติดปัญหากับกรมศุลกากรที่ได้บังคับใช้กฎหมายดังกล่าว จนทำให้เกิดมูลค่าความเสียหายย้อนหลังกว่า 1,343 ล้านบาท
นอกจากนี้ปัญหาดังกล่าวยังรวมถึงส่วนของการนำเข้า และส่งออก ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และการประมงด้วย เนื่องจากได้มีการตีความนิยามของคำว่า “อุปโภค” ตามพ.ร.ก. ประมง 2558 ให้รวมถึงการทำอาหารสัตว์ด้วย ทำให้ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ได้รับผลกระทบ ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับความหมายของคำว่า”อุปโภค” ซึ่งต้องมีใบอนุญาตจากกรมประมงในการนำเข้าและการส่งออกเช่นกัน ซึ่งส่งผลกระทบไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น นม อาหารเสริม (ที่มีส่วนผสมของสัตว์น้ำ) มูลค่าความเสียหายกว่า 50,000 ล้านบาทด้วยเช่นกัน
ด้าน นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ขณะนี้รับทราบถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการตามที่ร้องเรียนมาแล้ว แต่เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดทางกฎหมาย ซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ไข จึงขอให้กลุ่มผู้ร้องเรียนนำส่งข้อมูลเอกสารเพิ่มเติม เพื่อการพิจารณาหาแนวทางให้ความช่วยเหลือ และช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการโดยเร็วต่อไป