Skip to content
Home » ยึดหลักสันติวิธี ‘พลเอก ณัฐพล’ ลุยบูรณาการหน่วยงานคลี่คลายความขัดแย้งไทย-กัมพูชา

ยึดหลักสันติวิธี ‘พลเอก ณัฐพล’ ลุยบูรณาการหน่วยงานคลี่คลายความขัดแย้งไทย-กัมพูชา

พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ตอบกระทู้ถามสดในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 ว่า
.
ตนขอแจงว่ารัฐบาลมีความกังวลต่อสถานการณ์ตึงเครียดบริเวณชายแดน โดยเฉพาะเหตุการณ์เมื่อ 8 มิ.ย. 68 ที่มีกำลังทหารเผชิญหน้ากันในระยะประชิดเสี่ยงต่อการปะทะด้วยอาวุธ แม้จะมีการถอนกำลังบางส่วนแล้ว แต่ยังคงมีกำลังพร้อมอาวุธหนักทั้งรถถัง และปืนใหญ่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์บานปลายได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะหากเกิดความเข้าใจผิด เพื่อคลี่คลายสถานการณ์รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา (ศบ.ทก.) ภายใต้การอำนวยการของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อทำงานเชิงบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยึดหลักสันติวิธี และเคารพศักดิ์ศรีแห่งความเป็นรัฐทั้งสองฝ่าย โดยมุ่งเน้นการเจรจาแบบทวิภาคีกับกัมพูชา เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธ และผลกระทบต่อประชาชน
.
ตนขอยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ให้กองทัพมีอิสระในการตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียว แต่มีการประชุมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยกองทัพเป็นหนึ่งในหลายหน่วยงานภายใต้การกำกับของ ศบ.ทก. และรัฐบาลพลเรือนเป็นผู้กำหนดนโยบายหลักทั้งหมด ยอมรับว่าสถานการณ์นี้ทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจอย่างรอบคอบ เนื่องจากได้รับเสียงสะท้อนที่แตกต่างกันจากประชาชนสองกลุ่ม คือกลุ่มในพื้นที่ชายแดนที่อยากให้สถานการณ์ยุติโดยเร็วเพื่อความปลอดภัย และการค้าขาย ขณะที่ประชาชนในส่วนกลางบางส่วนเรียกร้องให้รัฐบาลรักษาศักดิ์ศรี และใช้มาตรการเข้มงวดกับกัมพูชา ในประเด็นที่หลายฝ่ายมองว่ากองทัพมีอำนาจสูงสุดในการบริหารสถานการณ์ ตนเองยืนยันว่า ในฐานะรัฐมนตรีของรัฐบาลพลเรือนทำงานภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ โดยการมอบอำนาจให้กองทัพเป็นเพียงมาตรการเฉพาะหน้าเพื่อความคล่องตัวในการตอบสนองสถานการณ์ฉุกเฉินตามแนวชายแดน
.
นอกจากนี้ รัฐบาลยังร่วมมือกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และประเทศพันธมิตรในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะกลุ่มสแกมเมอร์ที่แฝงตัวอยู่ตามแนวชายแดน ทำให้ต้องมีการควบคุมการเข้าออกพื้นที่อย่างเข้มงวดทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก
.
ที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านหลายท่าน เห็นว่าฝ่ายค้านมองประโยชน์ของประชาชน พาดพิงไปถึงนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ได้ให้คำแนะนำ ซึ่งตนเองได้ใช้มาเป็นแนวทาง จึงขอขอบคุณทุกคน
.
สำหรับความกดดันจากโซเชียลมีเดียของอังเคิลที่ไม่เป็นความจริง จึงมีความตึงเครียด พร้อมชี้แจงมาตรการควบคุมจุดผ่านแดน 4 ขั้นตอน ซึ่งตั้งแต่ 7 มิ.ย. 68 เป็นต้นมา เราใช้เพียงมาตรการขั้นที่ 1-2 คือจำกัดบุคคล-ยานพาหนะและจำกัดเวลา ยังไม่มีการปิดจุดผ่านแดน ที่ผ่านมาเราไม่ได้กดดันอะไรมาก แต่จากการโพสต์ในโซเชียลมีเดียและสื่อมวลชนหลายท่านเข้าใจว่าเราปิดจุดผ่านแดน ทำให้เรามีความกดดัน
.
สำหรับจุดผ่านแดนนั้น อาทิ จุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ จุดผ่านแดนถาวรช่องจอม จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก และจุดผ่านแดนถาวรบ้านแหลม แสดงให้เห็นว่าฝั่งกัมพูชามีการปิดจุดผ่านแดน ยืนยันว่าไม่มีการปิดจุดผ่านแดน หาก สส.พบว่าสิ่งที่ตนเองนำเสนอไม่เป็นความจริง สามารถมาประจานได้ผ่านสื่อ ยืนยันว่าเป็นภาพจริงไม่ได้จัดฉาก
.
“เข้าใจว่าผู้นำกัมพูชาอยู่ที่พนมเปญ ท่านคงได้รับการบอกเล่าซึ่งอาจจะคลาดเคลื่อน ข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ตนเองได้กราบเรียน”
.
พลเอกณัฐพล กล่าวต่อว่า ความกดดันที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นทางด้านเศรษฐกิจ แต่เรากดดันด้านกระบวนการอาชญากรรม ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ UNODC โดยเฉพาะการปราบปรามแก๊งสแกมเมอร์ ตนเองเจ็บปวดในฐานะรัฐบาล เนื่องจากประชาชนในจังหวัดสระแก้ว จันทบุรี และตราดต่อว่า เขาไม่ได้อยู่ในพื้นที่ตึงเครียดทำไมถึงต้องดึงมาเกี่ยว จึงอยากชี้แจงเนื่องจากการบริหารสถานการณ์เป็นไปด้วยความยาก มีความเห็นจากทั้งสองฝ่าย ฝ่ายที่อยากให้ใช้สายแข็งก็มี แต่พี่น้องประชาชนตามแนวชายแดนโอดครวญตัดพ้อต่อว่ารัฐบาลว่าวางแผนในห้องแอร์
.
ตนเองฟังเช่นนี้ก็รู้สึกเจ็บปวดมาก เพราะไม่ได้วางแผนในห้องแอร์ แต่ฟังข้อมูลจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นข้อมูลที่สะเทือนใจเมื่อเด็กนักเรียนอยู่ในห้องเรียนต้องฟังเสียงไซเรน ศบ.ทก.จึงมีความระมัดระวังไม่ให้เหตุการณ์บานปลาย เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นจะเกิดกับประชาชน ย้ำว่าเราพยายามเชิญชวนให้กัมพูชาเข้าสู่การเจรจาแบบทวิภาคี การประชุม GBC บรรยากาศเริ่มดีขึ้น กัมพูชาเริ่มหันมาคุย ปัจจุบันอยู่ขั้นของการต่อรองและประสานงาน
.
ขณะที่คดีการลอบสังหารนักเคลื่อนไหวกัมพูชาในประเทศไทย อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขออนุญาตไม่ชี้แจงเนื่องจากเป็นประเด็นละเอียดอ่อน ตนเองเคยเป็นเลขาธิการ สมช. มาก่อน เรื่องความมั่นคงจะยึดสมดุลเป็นหลัก สร้างความสมดุลระหว่างประเทศมหาอำนาจทุก ๆ ประเทศ เราพยายามระมัดระวังไม่ให้ประเทศไทยไปผูกพันกับประเทศใดประเทศหนึ่ง
.
สำหรับที่สื่อมวลชนมีการเผยแพร่ว่า กัมพูชาได้รับการสนับสนุนจากประเทศตอนเหนือของไทย แต่สถานเอกอัครราชทูตของประเทศนั้นได้ชี้แจงชัดเจนว่าไม่เกี่ยวข้อง ส่วนการฝึก Golden Dragon 2025 ไม่ได้ฝึกมาเพื่อยั่วยุกับไทย ขณะที่ไทยก็ฝึก Cobra Gold กับอีกประเทศหนึ่ง ทั้งหมดเป็นเพียงความร่วมมือทางการทหาร
.
ดังนั้นการที่ฝ่ายการเมืองยับยั้งการพูดคุยจัสแม็ก เพราะเน้นการรักษาสมดุล กองทัพไม่สามารถดำเนินการได้ตามลำพัง แต่ต้องดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล เพราะหากดึงอีกประเทศเข้ามาอาจจะทำให้เกิดปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยกองทัพจะต้องใช้ฝีมือมากขึ้น จะบอกว่าไม่ขอชี้แจงเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็จะทำให้ประชาชนและสภานิติบัญญัติไม่เข้าใจ ตนเองจึงพยายามชี้แจงในทุกประเด็น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า