วันที่ 9 กรกฎาคม 2568 พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ ได้เดินทางไปปฏิบัติราชการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย เพื่อติดตามและตรวจเยี่ยมความคืบหน้าโครงการสำคัญ ด้านการป้องกัน ภัยพิบัติและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ตามนโยบายรัฐบาลระยะกลางและระยะยาว ซึ่งในห้วงเดือนตุลาคม พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยเป็นวงกว้าง ทั้งชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน อีกทั้งส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศ มีมูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนมาก
.
โดยภารกิจช่วงเช้าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พลเอก ณัฐพลฯ และคณะ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการเพิ่มศักยภาพการรองรับและการไหลของแม่น้ำปิง เพื่อป้องกันเหตุอุทกภัยเขตเมืองเชียงใหม่ ระยะเร่งด่วน ดำเนินการโดยหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (นทพ.) เน้นการขุดลอกตะกอนและสิ่งกีดขวางออกจากลำน้ำปิง เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ระยะทางรวม 41 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 5 ช่วง ซึ่งปัจจุบันได้เร่งรัดดำเนินการในช่วงที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นช่วงที่ผ่านเขตเศรษฐกิจตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ก่อน เพราะมีลักษณะตื้นเขิน ต้องขุดลอกลำน้ำ-ดูดทรายขึ้นมา เพิ่มความลึกของท้องน้ำ 2 – 3 เมตร จะสามารถช่วยเพิ่มการระบายน้ำที่ผ่านเมืองได้ 700 ลูกบาศก์เมตร (จากเดิมเพียง 400 ลูกบาศก์เมตร) ทั้งนี้การขุดลอกคืบหน้าไปแล้วกว่า ร้อยละ 30 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายเดือนสิงหาคม 2568 และทยอยดำเนินงาน ในส่วนที่เหลือ ให้แล้วเสร็จภายในปลายเดือนกันยายน 2568 นี้
.
สำหรับในช่วงบ่าย พลเอก ณัฐพลฯ และคณะ ได้เดินทางไปยังพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการเพิ่มศักยภาพการไหลของแม่น้ำกก ในเขตอำเภอเมืองเชียงราย ระยะทาง 3 กิโลเมตร ซึ่งล่าสุดได้ดำเนินการแล้วเสร็จ พร้อมรองรับปริมาณน้ำในช่วงฤดูฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากนั้นได้เดินทางต่อไปยังพื้นที่อำเภอแม่สาย ซึ่งมีโครงการสำคัญ 2 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการขุดลอกแม่น้ำรวก ระยะทาง 32 กิโลเมตร ที่มีความคืบหน้า ร้อยละ 82.21 และ (2) โครงการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมเมืองแม่สาย มีความคืบหน้า ร้อยละ 93.63 โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จ ภายในกลางเดือนกรกฎาคม 2568 ซึ่งจะช่วยป้องกันและลดผลกระทบจากดินโคลนถล่มและน้ำหลาก เข้าพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจของอำเภอแม่สายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
การลงพื้นที่ของ ‘สนามไชย 2’ ในครั้งนี้ ถือเป็นการบูรณาการระหว่างกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคง กับกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานอื่นๆ ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด้านทรัพยากรน้ำ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในการรับมือภัยพิบัติ ได้อย่างยั่งยืน
