Skip to content
Home » เดินหน้าสุดซอย ‘ลอรี่’ เผย ‘เอกนัฏ’ ส่ง DSI รับกรณี ‘ซินเคอหยวน’ เป็นคดีพิเศษ

เดินหน้าสุดซอย ‘ลอรี่’ เผย ‘เอกนัฏ’ ส่ง DSI รับกรณี ‘ซินเคอหยวน’ เป็นคดีพิเศษ

วันที่ 10 เมษายน 2568 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม
จะดำเนินการตรวจสอบกรณีเหล็กตกมาตรฐานที่อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกรณีการครอบครองฝุ่นแดง ของ บริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด อย่างถึงที่สุดและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ
.
โดยหลังจากนี้จะเข้าเก็บตัวอย่างเหล็กอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2568 นี้ หลังได้เข้าหารือและร่วมวางแผนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าพื้นที่เพื่อให้เกิดความเป็นระบบและตรงตามวัตถุประสงค์ให้มากที่สุด
.
ในวันนี้ (10 เมษายน 2568) ได้มอบหมายให้ นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม แถลงผลดำเนินการตรวจสอบที่ผ่านมา
.
โดยนายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุนทร แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย และนางวิรงรอง พรพิมลเทพ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย (สมอ.) ร่วมแถลงข้อเท็จจริงในการตรวจสอบเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้าง อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกรณีการครอบครองฝุ่นแดงของ บริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด
.
“ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2567 – มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ทีมสุดซอยของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการยึดอายัดเหล็กเส้นกลม เหล็กข้ออ้อย และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ที่ไม่ได้มาตรฐาน จากโรงงานผู้ผลิตในจังหวัดชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี นครราชสีมา และสระแก้ว จำนวน 7 ราย ซึ่งเป็นโรงงานร่วมทุนกับต่างชาติ 4 ราย และโรงงานไทย 3 ราย รวมมูลค่ายึดอายัด 361,413,115 บาท”
.
“ก่อนหน้านี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ทำหนังสือเพื่อขอข้อมูลชี้แจงข้อเท็จจริงจากซินเคอหยวนว่าได้ขายเหล็กล็อตที่มีปัญหาให้แก่ตัวแทนจำหน่ายรายใดไปบ้างหรือไม่ แต่กลับได้คำตอบเพียงแค่ว่าไม่ได้ขายเหล็กให้โครงการก่อสร้างตึก สตง. โดยตรง จึงไม่สามารถตอบได้ ซึ่งเท่ากับกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ใด ๆ ต่อประชาชน เพราะประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย ว่ามีเหล็กเส้นที่มีปัญหาอยู่ในอาคารอื่น ๆ อีกหรือไม่ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะมอบหมายให้ สมอ. พิจารณาต่อไปว่าในกรณีนี้ถือว่าสามารถเอาผิดฐานไม่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลตามมาตรา 56 พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้หรือไม่ ส่วนเรื่องการครอบครองฝุ่นแดง ที่ได้ทำหนังสือไปสอบถามข้อเท็จจริงแล้ว ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจาก ซินเคอหยวนเช่นกัน”
.
“ในส่วนของ มอก.20 เหล็กเส้นกลม และ มอก. 24 เหล็กข้ออ้อยที่ผลิตจากเตาหลอมเหล็กชนิด IF (Induction Furnace) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลอมเหล็กแบบเก่า ซึ่งมีเสียงวิจารณ์วงกว้างถึงปัญหาเรื่องคุณภาพและความบริสุทธิ์ของเหล็ก รัฐมนตรีเอกนัฎ ได้สั่งการให้ สมอ. ศึกษาแนวทางแก้ไข หรือ ยกเลิก มอก. เหล็กเส้นจากเตาหลอมเหล็ก IF ชนิดนี้ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและความสม่ำเสมอของมาตรฐานผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นไทยในอนาคต” นายพงศ์พล กล่าว
.
“สำหรับกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวว่า สมอ. ได้ต่ออายุใบอนุญาต มอก. ให้กับ บริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด เมื่อเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมานั้น ขอยืนยันอีกครั้งว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง โดยข้อเท็จจริงคือ บริษัทดังกล่าว ปัจจุบันยังถูกแจ้งเตือนก่อนสั่งพักใช้ใบอนุญาตฯ ตามมาตรา 40 กรณีผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐานห้ามผลิต ห้ามจำหน่าย สินค้าเหล็กเส้นที่ทดสอบไม่ผ่านมาตรฐาน ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ตามการยืนยันของ สมอ. ซึ่งสินค้าไม่ได้มีการต่ออายุใบอนุญาต มอก. ตามข่าวที่เผยแพร่ไปแต่อย่างใด”
.
ทั้งนี้ วานนี้ (9 เม.ย. 68) นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย สมอ. ได้เข้าพบ เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ร่วมหารือกันเพื่อวางแนวทางในการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อเข้าที่เกิดเหตุอย่างเป็นระบบ และกำหนดหน้างานให้ชัดเจน เพื่อให้ใช้เวลาน้อยในการทำงาน ได้ตามวัตถุประสงค์ให้มากที่สุด
.
ซึ่งหลังจากที่ได้แบ่งหน้าที่กันและเข้าไปดูหน้างานจริงในที่เกิดเหตุ จึงได้กำหนดเรียงลำดับหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ โดยคิวแรกเป็นของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่ง สมอ. มีกำหนดจะเข้าไปเก็บตัวอย่างเหล็กในที่เกิดเหตุเพิ่มเติม ในวันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2568
.
หลังจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะบูรณาการแลกเปลี่ยนและสนับสนุนข้อมูลร่วมกันเพื่อเอาผิดกับโรงงานผลิตเหล็กดังกล่าวตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน ซึ่ง DSI สามารถรับเป็นคดีพิเศษได้ เนื่องจากมีความซับซ้อนและกระทบต่อระบบเศรษฐกิจภาพรวม กรณีนี้นับเป็นต้นแบบของการทำงานของหน่วยงานรัฐเพื่อสู้กับธุรกิจศูนย์เหรียญในประเทศไทย และกระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการกับโรงงานดังกล่าวตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ หากตรวจสอบพบว่ามีการผิดกฎหมาย
ข้อใดจะดำเนินการให้ถึงที่สุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า