วันที่ 24 มีนาคม 2568 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ชี้แจงในการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ในประเด็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และการลดอัตราอ้อยเผา ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดฝุ่น PM 2.5 ว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แม้ว่าตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจะไม่ได้กำกับดูแลเรื่องของสิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่ตนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเรื่องของสุขภาพ เรื่องของชีวิตของประชาชนชาวไทย ตนมีการเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น และสิงคโปร์เพื่อศึกษาและหามาตรการที่จะสามารถแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
.
สำหรับประเทศไทยที่เป็นทั้งประเทศผู้บริโภค และประเทศผู้ผลิต ดังนั้นการดูแลสิ่งแวดล้อมจะต้องมาจากความรับผิดชอบของผู้ผลิตด้วยเช่นกัน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้กำกับดูแลอ้อย จากพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ซึ่งตนขอยืนยันว่าอ้อยเผาในปีนี้ลดลงมากที่สุดในประวัติศาสตร์
.
สำหรับการเผาในอ้อยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 การเผาก่อนเข้าไปเก็บเกี่ยว เพื่อความง่ายและความสะดวกในการเก็บเกี่ยว และส่วนที่ 2 คือการเผาหลังเก็บเกี่ยวเพื่อป้องกันการปนเปื้อนและง่ายต่อการเพาะปลูกรอบใหม่
.
การเผาในส่วนที่ 1 กระทรวงอุตสาหกรรมมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด ทำให้อ้อยเผาไม่เหลือไม่ถึง 15% ของอ้อยทั้งหมด นอกจากนี้เรายังเอาจริงเอาจังซึ่งพิสูจน์จากการสั่งปิดโรงงานน้ำตาล 2 แห่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
.
การเผาในส่วนที่ 2 นั้น กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้ใช้มาตรการเข้มงวดแต่เพียงอย่างเดียว แต่ในขณะนี้กำลังเตรียมตัวเพื่อเพิ่มมูลค่าผ่านการนำเศษชิ้นส่วนจากอ้อย โดยเฉพาะใบอ้อยไปขายยังโรงไฟฟ้าชีวมวล และเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนอุปกรณ์ทั้งในการตัดใบอ้อย และกระบวนการรวบรวมจัดการใบอ้อย หรือรวมไปถึงการไถกลบเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน นอกจากนี้เรายังได้เตรียมความพร้อมในเรื่องของเชื้อเพลิงชีวภาพ เรื่องของพลาสติกชีวภาพ และในท้ายที่สุดอาจจะมีการกำหนดราคาน้ำตาลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกราคาหนึ่ง
.
กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังออกแบบมาตรการเพื่อทำงานร่วมกับโรงงาน และเกษตรกรเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่ให้เป็นภาระต่อเกษตรกร และไม่ให้อ้อยถูกนำไปเผาและสร้าง PM2.5 แล้วย้อนกลับทำร้ายชีวิตของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน
