วันที่ 19 มีนาคม 2568 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติและที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (วันที่ 18 มีนาคม 2568) คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การกระทำความผิดต่อเด็กผ่านสื่อออนไลน์) หรือกฎหมายล่อลวง(Grooming) ตามที่กระทรวงยุติธรรม เสนอ โดยกฎหมายล่อลวงนี้มีสาระสำคัญ คือ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับความผิดทางเพศและความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา ที่บุคคลใดได้กระทำต่อเด็กและเยาวชนผ่านทางสื่อออนไลน์ โดยมีการกำหนดฐานความผิดเพิ่มเติมในประมวลกฎหมายอาญาไว้ 5 ประเภท ประกอบด้วย
.
1.การล่อลวงเด็กเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ(Online Grooming)
2.การพูดคุยเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสม(Sexting)
3.การแบล็กเมลทางเพศ(Sextortion)
4.การติดตามคุกคาม(Cyber Stalking)
5.การกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์(Cyber Bullying)
.
สำหรับความผิดในกรณีการล่อลวงเด็กเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ ผู้กระทำผิดจะได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากกระทำต่อเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี หรือหากการกระทำผิดนั้นผ่านอุปกรณ์โทรคมนาคมหรือระบบคอมพิวเตอร์ จะต้องได้รับโทษหนักขึ้น
.
ส่วนผู้ที่พยายามพูดคุยหรือส่งเนื้อหาทางเพศที่ไม่เหมาะสมให้กับเด็กอายุระหว่าง 15-18 ปี จะถูกจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 40,000 บาท หากกระทำความผิดนี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี จะถูกจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท ขณะที่การทำความผิดฐานแบล็กเมลทางเพศจะถูกจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท
.
ส่วนการติดตามคุกคามผู้อื่นผ่านสื่อออนไลน์จนทำให้เกิดความเดือดร้อนหรือหวาดกลัว จะถูกจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สุดท้ายความผิดฐานการกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์ จะถูกจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
.
นางรัดเกล้า ระบุต่อว่า กฎหมายล่อลวง(Grooming) ที่ครม. อนุมัตินี้เป็นกฎหมายที่ตนและพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้พยายามต่อสู้ผลักดันมาตั้งแต่ช่วงเลือกตั้งปี 2566 เพราะตนและพรรคตระหนักดีถึงภัยคุกคามและความรุนแรงทางเพศที่มีต่อเด็กและสตรี โดยเฉพาะบนสื่อสังคมออนไลน์ที่นับวันจะมีเด็กและสตรีตกเป็นเหยื่อเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเห็นได้จากสถิติที่บ่งชี้ว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศในทางสังคมออนไลน์มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก
.
โดยกฎหมายล่อลวงนี้จะเป็นกฎหมายเชิงป้องกัน(Preventive Law) ที่จะสามารถเอาผิดและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้ตั้งแต่การมีลักษณะพฤติกรรมล่อลวงบนโลกออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดการละเมิดทางเพศ การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศก่อนเหมือนกฎหมายอื่น ๆ จึงจะดำเนินการเอาผิดได้ โดยในขณะนี้หลายประเทศได้นำกฎหมายลักษณะนี้มาบังคับใช้จริงแล้ว เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ และฟิลิปปินส์ เพื่อเป็นการคุ้มครองป้องกันเด็กและสตรีมิให้ตกเป็นเหยื่อภัยทางออนไลน์ได้
.
“ตนภูมิใจที่ร่างกฎหมายล่อลวง(Grooming) ผ่านการเห็นชอบจากครม. แล้ว และมั่นใจว่ากฎหมายนี้จะช่วยป้องกันอันตรายและป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็กและผู้หญิงได้อย่างแน่นอน ดังนั้นขั้นตอนต่อไป คือ ต้องเร่งผลักดันร่างให้สำเร็จมีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อจะได้คุ้มครองเด็กและสตรีได้อย่างทันท่วงที” นางรัดเกล้า ระบุ
