วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังที่เครือข่ายผู้ปลูกปาล์มทั่วประเทศ ได้เข้าพบนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับปัญหาหีบปาล์มกับโรงงาน ที่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มมองว่ากำลังถูกเอาเปรียบเรื่องค่าเปอร์เซ็นต์น้ำมัน จากที่ควรได้ 18% แต่ถูกบีบให้เหลือแค่ 13-14% ว่า ในเรื่องพืชปาล์มนี้ นายเอกนัฏ มีแนวคิดจะแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบในระยะยาว โดยจะใช้โมเดลเดียวกันกับ “อ้อยและน้ำตาลทราย” ที่ประสบความสำเร็จจนสามารถเป็นพืชเกษตรระดับต้น ๆ ของประเทศ และทำให้ไทยกลายเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับที่ 2 ของโลก และก็ยังสามารถควบคุมการอ้อยเผาให้มีอัตราต่ำสุดในประวัติศาสตร์ที่เคยมีมาได้ด้วย
.
นายพงศ์พล ระบุต่อไปว่า การทำลายความเหลื่อมล้ำอย่างหนึ่ง คือ ต้องมีการ “สังคายนาระบบ” เพิ่มมูลค่าให้ทั้งสายพานการผลิตปาล์มอย่างเป็นระบบ โดยต้องมีการบริหารจัดการปาล์มใหม่ ให้เกิดความโปร่งใส มีการคานอำนาจ 3 ฝ่าย ระหว่างเกษตรกร-โรงงาน-คนกลางภาครัฐ และเครื่องมือวัดผลเชิงวิทยาศาสตร์ในการประเมินเปอร์เซ็นต์น้ำมัน การแปรรูปปาล์มเป็นพลาสติกชีวภาพราคาสูง เพื่อสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้กับทุกฝ่ายที่มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเกษตรกร, โรงงาน และผู้แปรรูป ภายใต้กฎหมายที่เสมอภาคและเป็นธรรม
