Skip to content
Home » กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ‘อนุชา’ หนุน รบ. กระตุ้นเศรษฐกิจคู่กับแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ

กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ‘อนุชา’ หนุน รบ. กระตุ้นเศรษฐกิจคู่กับแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ

 
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 นายอนุชา บูรพชัยศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้อภิปรายเสนอ ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาข้อเท็จจริงและหาแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจน ว่า
.
สำหรับข้อมูลในการอภิปรายของตน อ้างอิงจากรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์การแก้ไขปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ประจำปี 2566 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และข้อมูลบางส่วนนำมาจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ
.
สถานการณ์ความยากจนของประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้น โดยในปี 2566 มีคนจนทั้งสิ้น ประมาณ 2.39 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนจน 3.4% ของประชากรทั้งหมด โดยเส้นความยากจนอยู่ที่ 3,043 บาทต่อคนต่อเดือน หรือประมาณ 36,516 บาทต่อคนต่อปี หากพิจารณาในระดับครัวเรือน พบว่า ในปี 2566 ประเทศไทยมีครัวเรือนยากจนประมาณ 6.86 แสนครัวเรือน คิดเป็น 2.6% ของครัวเรือนทั้งหมด
.
เส้นความยากจน เป็นเครื่องมือสำหรับใช้วัดภาวะความยากจน โดยคำนวณจากค่าใช้จ่ายสำหรับอาหาร และสินค้าบริการอื่นที่ไม่ใช่อาหาร ที่คนคนหนึ่งจำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน ดังนั้นคนเปราะบางต่อความยากจน คือ กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการกลายเป็นคนจน โดยเป็นกลุ่มที่มีระดับรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคสูงกว่าหรือต่ำกว่าเส้นความยากจนเล็กน้อย (บวก/ลบ 20%)
.
เมื่อพิจารณากลุ่มที่มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ พบว่า คนเปราะบางต่อความยากจนส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพอิสระ หรือเป็นลูกจ้างในภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยมีสัดส่วน 21.12% ประกอบ ธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง และ 18.06% เป็นลูกจ้างเอกชน
.
นอกจากนี้ ในกลุ่มที่เป็นแรงงาน ในภาคเกษตรกรรม 3 ใน 4 เป็นการปลูกข้าว ปลูกพืชยืนต้นอื่น ๆ และการสนับสนุนการผลิตพืชผล ทำให้การประกอบอาชีพที่จำเป็นต้องพึ่งพาปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อมเป็นสำคัญ และส่งผลให้ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของสภาพดินฟ้าอากาศค่อนข้างสูง โดยเฉพาะปัญหาจากฝนทิ้งช่วงและภัยแล้ง ในพื้นที่ปลูกข้าวนาปีในช่วงต้นฤดูกาลเพาะปลูก และปริมาณน้ำที่อยู่ในระดับต่ำ
.
เมื่อพิจารณาจำนวนคนจนพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนคนจนสูงสุด ที่ประมาณ 7.58 แสนคน หรือคิดเป็น 31.71% ของคนจนทั้งหมด รองลงมาคือภาคใต้ มีจำนวนคนจน 7.33 แสนคน คิดเป็น 30.65% ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลรายได้เฉลี่ยต่อคนที่พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนต่ำที่สุด อยู่ที่ 8,426 บาท สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากแรงงานส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ประกอบอาชีพในภาคการเกษตร ซึ่งต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและความผันผวนของสภาพดินฟ้าอากาศ ส่งผลต่อรายได้ ที่ไม่แน่นอน และความเสี่ยงต่อการเป็นผู้มีรายได้น้อยและเข้าสู่ภาวะยากจน
.
แต่หากดูที่สัดส่วนคนจนจำแนกรายภาค ภูมิภาคที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ภาคใต้ โดยในปี 2566 มีสัดส่วนคนจนอยู่ที่ 7.48% ตามมาด้วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4.16% และภาคเหนือ 3.64% ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคใต้มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุด มาจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ซึ่งส่งผลกระทบต่อการลงทุน โอกาสในการประกอบอาชีพ และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ประชาชนจำนวนมากสูญเสียทรัพย์สิน ขาดแคลนปัจจัยพื้นฐาน และเข้าถึงบริการทางสังคมได้อย่างจำกัด
.
สัดส่วนคนจนจำแนกรายจังหวัด จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส แม่ฮ่องสอน พัทลุง สตูล หนองบัวลำภู ตาก ประจวบคีรีขันธ์ ยะลา และตรัง โดยปัตตานีและแม่ฮ่องสอนติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของ จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุดต่อเนื่องกันอย่างน้อย 15 ปี สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความยากจนเรื้อรังในสองจังหวัดนี้
.
สิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กับการแก้ไขปัญหาความยากจน คือการลดความเหลื่อมล้ำที่ต้องให้ความสำคัญใน 5 มิติ ได้แก่ ด้านการศึกษา, ด้านรายได้, ด้านความเป็นอยู่, ด้านสุขภาพ, ด้านการเข้าถึงบริการรัฐ
.
ตนขอเสนอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับดำเนินนโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง และหลายหน่วยงาน ทั้งหมด 8 ด้าน ได้แก่
.
1. ด้านการบรรเทาภาระค่าครองชีพ/เพิ่มรายได้ของผู้มีรายได้น้อย ผ่านโครงการ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด รวมทั้งโครงการขยายโอกาสการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ ด้วยการช่วยส่งเสริมการประกอบอาชีพและการมีงานทำของผู้สูงอายุ
.
2. ด้านการขับเคลื่อนการดำเนินงานขจัดความยากจน และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก
.
3. ด้านการกระจายการถือครองทรัพย์สิน/การพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยทั้งในเมืองและชนบท โดยการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรและครัวเรือนยากจน รวมถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัยผ่านโครงการบ้านมั่นคงและบ้านพอเพียงอย่างมีคุณภาพและโปร่งใส
.
4. ด้านการสร้างโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยการสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแก่นักเรียนหรือนักศึกษา การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีคุณภาพ และให้ความสำคัญกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
.
5. ด้านการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ การพัฒนารูปแบบบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก การพัฒนาระบบบริการรักษาพยาบาลทางไกล โดยใช้ Telemedicine, Telepharmacy, Telenursing, Video Call และระบบบริการของทีมแพทย์ประจำครอบครัว รวมทั้งโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีประสิทธิภาพ
.
6. ด้านการพัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคม ซึ่งเป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตของคนในชุมชนผ่านโครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน รวมถึงจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบล และยกระดับการทำงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ
.
7. ด้านการส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน ผ่านการดำเนินโครงการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน/หมู่บ้าน โรงเรียน โรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลออนไลน์
.
8. ด้านการสร้างโอกาสการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เช่นการให้ความสำคัญกับกองทุนยุติธรรมเพื่อเป็นกลไก ให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและขาดโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การบริการให้ความรู้ คำแนะนำ คำปรึกษาด้านกฎหมาย รวมทั้งการรับเรื่องราวร้องเรียน ร้องทุกข์ ปัญหาความไม่เป็นธรรม และให้ความช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาแก่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่จังหวัด ผ่านโครงการยุติธรรมเคลื่อนที่เป็นต้น
.
ตนไม่อยากให้รัฐบาลชุดนี้ทิ้งระบบการแก้ความยากจนแบบพุ่งเป้า หรือรู้จักกันในชื่อ TPMAP ซึ่งใช้ Big data และระบบวิเคราะห์ข้อมูลแบบชี้เป้า โดยอ้างอิงฐานข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform: TPMAP) เป็นการนำข้อมูลคนที่ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาตรวจสอบ และลงพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่เพื่อสำรวจสอบถามถึงความรุนแรงของปัญหา ตามเกณฑ์ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานของกระทรวงมหาดไทย
.
ทั้งนี้ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในปัจจุบันจำนวน 14.5 ล้านคน ซึ่งไม่ใช่จำนวนคนจนทั้งหมด ตามคำนิยามของเส้นความยากจนที่ผมได้เกริ่นไว้ในช่วงแรกของการอภิปราย แต่ด้วยเงื่อนไขที่เปิดโอกาสให้คนที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี หรือแม้แต่ผู้มีบ้าน มีวงเงินกู้สำหรับที่อยู่อาศัยรวมไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และมีเงินกู้สำหรับยานพาหนะรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้
.
พร้อมกันนี้ตนทราบมาว่าประมาณช่วงสิ้นเดือนมีนาคม ปี 2568 รัฐบาลเตรียมความพร้อมในการรับลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจนรอบใหม่สำหรับกลุ่มเปราะบาง ผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากขณะนี้กำลังจะครบ 2 ปี หลังจากรอบล่าสุดที่เปิดลงทะเบียนปลายปี 2565
.
ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในปัจจุบันจำนวน 14.5 ล้านคน ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ กระทรวงการคลังจะนำรายชื่อไปคัดกรองอัตโนมัติ คนกลุ่มใหม่ คือ คนที่ไม่เคยได้รับสิทธิมาก่อน คาดมีจำนวน 10 ล้านคน โดยมาจากประชาชนที่เพิ่งอายุครบ 18 ปี
.
โดยผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับสวัสดิการ ดังนี้ ได้รับเงินช่วยเหลือ 1,545 บาทต่อคนต่อเดือน, วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 300 บาทต่อคนต่อเดือน, วงเงินค่าเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ 750 บาทต่อคนต่อเดือน, วงเงินส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม 80 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน, มาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำประปา 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน, มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า 315 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน
.
เบื้องต้นโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใช้งบประมาณราว 4,800 ล้านบาทต่อเดือน หรือราว 50,000 ล้านบาทต่อปี
.
สุดท้ายนี้ขอเสนอให้รัฐบาลมุ่งเน้นนโยบายการทำให้ทุกคนมีความเท่าเทียมทางด้านโอกาส โดยเฉพาะโอกาสในการเข้าถึงบริการพื้นฐานต่าง ๆ ของภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลควรให้ความสำคัญและดำเนินการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการศึกษา สุขภาพ การขนส่งคมนาคม เทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ และด้านอื่นๆ ตลอดจนการดูแลแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
.
การที่ตนอภิปรายในวันนี้เพื่อที่จะเน้นย้ำไปยังรัฐบาล ในฐานะที่ผมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจมีความสำคัญ แต่เรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำเป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ Big data และเครื่องมืออื่นๆ มาช่วยในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า