“พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ “เดลินิวส์” ถึงจุดยืนในการเดินหน้ารื้อระบบพลังงานที่ตัวเขาเองได้ย้ำในหลาย ๆ ครั้งว่า ภาคพลังงานไทยอยู่กันมาได้อย่างไรเป็น 50 ปี ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีการแก้ไข เคยทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น คำว่า ปฏิรูปน่าจะน้อยไป แต่จะต้องรื้อ ลด ปลด สร้าง ใหม่ทั้งระบบ เรื่องนี้ย่อมสร้างความสั่นสะเทือนให้กับหลายกลุ่ม และเกิดเสียงสะท้อนกลับมาที่ตัว “พีระพันธุ์” เอง โดยเฉพาะข้อกล่าวหาที่ว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่เป็นการสร้างภาระ และผลกระทบให้ผู้ประกอบธุรกิจด้านพลังงาน!!!
.
เรื่องนี้ “พีระพันธุ์” ตอบในทันทีว่า ที่ว่าอยู่กันมาอย่างไรแบบนี้ 50 ปี เชื่อหรือไม่ว่า 2522 ปี ของกระทรวงพลังงานนับแต่ก่อตั้งปี 2545 มีกฎหมายของตัวเองจริง ๆ เพียงฉบับเดียว คือ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เพิ่งออกเมื่อปี 62 ที่เหลืออีก 3 ฉบับ ฉบับแรกคือกฎหมายปิโตรเลียม ออกมาตั้งแต่ปี 2514 ฉบับที่สองคือกฎหมายควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง ออกมาตั้งแต่ปี 42 ฉบับที่สามคือ พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ออกตั้งแต่ปี 2543 ทั้ง 3 ฉบับนี้ ออกมาตั้งแต่ก่อนจะตั้งกระทรวงพลังงานปี 45 สรุปแล้ว 22 ปีที่ตั้งกระทรวงพลังงานมามีกฎหมายที่ออกโดยกระทรวงพลังงานจริง ๆ กฎหมายทั้งหมดนี้ไม่มีฉบับไหนที่มีเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองประชาชน พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ออกมาเมื่อ พ.ศ. 2543 มีแต่เรื่องของผู้ประกอบการ ทั้ง ๆ ที่บริบททางการค้าและภาวะค่าครองชีพหรือภาวะเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป
.
“เข้าใจว่า ดั้งเดิมตั้งใจจะให้การประกอบกิจการด้านโรงกลั่นและการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงลงหลักปักฐานได้ แต่วันนี้เลยจุดนั้นไปแล้ว ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีกฎหมายที่คุ้มครองประชาชนและให้การค้าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นไปด้วยความถูกต้อง แน่นอนพวกที่เป็นผู้ประกอบการอยู่กันมาแบบมา โกยกำไรมหาศาล จะคุ้มครองประชาชนย่อมส่งผลกระทบกับกำไรของพวกเขา แต่ถามว่าถึงเวลาหรือยังที่รัฐต้องหันกลับมาดูแลประชาชนบ้าง 50 กว่าปีที่ผ่านมาดูแลผู้ประกอบการฝ่ายเดียวตลอดมายังไม่เพียงพออีกหรือ การจะทำแบบนี้ได้ต้อง “รื้อ” ระบบกฎหมาย เพื่อ “ลด” ภาระประชาชน เพื่อ “ปลด” พันธนาการชีวิตจากระบบเดิม และเพื่อ “สร้าง” กติกาที่ถูกต้องและเป็นธรรมกับประชาชนผู้บริโภค ตามแนวทางและนโยบาย “รื้อ ลด ปลด สร้าง” ของผม ซึ่งตรงกับนโยบายรัฐบาลที่ตั้งใจจะลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้”
.
ส่วนเรื่องค่าไฟ ผมขออธิบายให้เข้าใจตรงกันว่า การปรับลดค่าไฟฟ้าเหลือเฉลี่ย 4.15 บาทต่อหน่วย เพื่อเป็นของขวัญให้กับประชาชน ซึ่งจะมีผลตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย. 2568 นั้น ไม่ใช่ลดเพียง 3 สตางค์ จากค่าไฟฟ้าปัจจุบันที่อยู่ที่ราคา 4.18 บาทต่อหน่วย เหมือนที่คนที่ไม่เข้าใจพยายามจะสร้างกระแส ต้องเข้าใจก่อนว่าค่าไฟฟ้าต้องปรับทุก 4 เดือน ตามการผันแปรของราคาก๊าซในตลาดโลก ที่เรียกว่าค่า FT เพราะเราใช้ก๊าซเป็นหลักในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการ กกพ. ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการพลังงาน
.
ดังนั้นค่าไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาจะมีผลเพียงแค่ 4 เดือนแล้วกลับไปปรับราคาใหม่ ที่ผ่านมาหนึ่งปีเต็มตลอดปี 2567 ผมบริหารจัดการกับผู้เกี่ยวข้องจนสามารถยันราคาค่าไฟฟ้าให้ประชาชนไว้ที่หน่วยละ 4.18 บาท ทุก 4 เดือน ในความเป็นจริงการที่ยันราคาไว้ที่ 4.18 บาท ได้นั้น ไม่ใช่ยืนราคาเดิมนะครับ แต่ปรับจากราคาที่ กกพ. คิดว่าควรจะเป็นในแต่ละ 4 เดือนตลอดมา อย่างครั้งหลังสุดสำหรับช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2567 นี้ เดิมตัวเลขออกมาที่ 5.64 บาทต่อหน่วย ตกใจกันไปหมด!!!
.
ตอนนั้นผมไปประชุมที่ซาอุดีอาระเบีย พอกลับมาผมก็รีบบริหารจัดการแก้ไขปัญหาและขอความร่วมมือทั้งจาก กฟผ. และ ปตท. จนสามารถกลับมายืนราคาที่ 4.18 บาท ต่อหน่วยเช่นเดิม นี่ไม่ใช่ราคาไม่เปลี่ยนแปลงนะครับแต่การที่บริหารจัดการให้อยู่ในราคาเดิมได้เท่ากับลดราคาลงไปจากที่ต้องเก็บจริงถึง 1.46 บาทต่อหน่วย เช่นกันครับ
.
สำหรับค่าไฟฟ้างวดเดือนมกราคม-เมษายน 2568 จำข่าวได้ไหมครับว่า จะต้องขึ้นไปที่ 5.49 บาทต่อหน่วย หลังจากการบริหารจัดการและความร่วมมือจาก กฟผ. และ ปตท. ทำให้ยังยันราคาไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย แต่ผมขอให้ กฟผ. และ ปตท. ช่วยกันดูว่าจะปรับลดเพิ่มได้อีกเท่าไหร่หรือไม่ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน สุดท้ายได้ที่ราคา 4.15 บาทต่อหน่วย เท่ากับปรับลดไป 1.34 บาทต่อหน่วย ไม่ใช่ 3 สตางค์แบบที่พยายามปั่นกันครับ ซึ่งราคานี้ กฟผ. ยังคงมีเงินเหลือไปใช้คืนหนี้ค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ.รับภาระแทนพี่น้องประชาชนไปก่อนหน้านี้ได้เป็นจำนวน 13,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่ กฟผ. และ ปตท. รับได้ และไม่กระทบความมั่นคงและความมีเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าหลักของประเทศ






