Skip to content
Home » เคลียร์ทุกประเด็น เปิดบทสัมภาษณ์ ‘พีระพันธุ์’ ชัดเจนทุกประเด็นเรื่องพลังงาน

เคลียร์ทุกประเด็น เปิดบทสัมภาษณ์ ‘พีระพันธุ์’ ชัดเจนทุกประเด็นเรื่องพลังงาน

“พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ “เดลินิวส์” ถึงจุดยืนในการเดินหน้ารื้อระบบพลังงานที่ตัวเขาเองได้ย้ำในหลายๆครั้งว่า ภาคพลังงานไทยอยู่กันมาได้อย่างไรเป็น 50 ปี ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีการแก้ไข เคยทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น คำว่า ปฏิรูปน่าจะน้อยไป แต่จะต้องรื้อ ลด ปลด สร้าง ใหม่ทั้งระบบ เรื่องนี้ย่อมสร้างความสั่นสะเทือนให้กับหลายกลุ่ม และเกิดเสียงสะท้อนกลับมาที่ตัว “พีระพันธุ์” เอง โดยเฉพาะข้อกล่าวหาที่ว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่เป็นการสร้างภาระ และผลกระทบให้ผู้ประกอบธุรกิจด้านพลังงาน!!!
.
เรื่องนี้ “พีระพันธุ์” ตอบในทันทีว่า ที่ว่าอยู่กันมาอย่างไรแบบนี้ 50 ปี เชื่อหรือไม่ว่า 2522 ปี ของกระทรวงพลังงานนับแต่ก่อตั้งปี 2545 มีกฎหมายของตัวเองจริงๆ เพียงฉบับเดียว คือ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เพิ่งออกเมื่อปี 62 ที่เหลืออีก 3 ฉบับ ฉบับแรกคือกฎหมายปิโตรเลียม ออกมาตั้งแต่ปี 2514 ฉบับที่สองคือกฎหมายควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง ออกมาตั้งแต่ปี 42 ฉบับที่สามคือ พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ออกตั้งแต่ปี 2543 ทั้ง 3 ฉบับนี้ ออกมาตั้งแต่ก่อนจะตั้งกระทรวงพลังงานปี 45 สรุปแล้ว 22 ปีที่ตั้งกระทรวงพลังงานมามีกฎหมายที่ออกโดยกระทรวงพลังงานจริง ๆ กฎหมายทั้งหมดนี้ไม่มีฉบับไหนที่มีเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองประชาชน พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ออกมาเมื่อ พ.ศ. 2543 มีแต่เรื่องของผู้ประกอบการ ทั้ง ๆ ที่บริบททางการค้าและภาวะค่าครองชีพหรือภาวะเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป
.
“เข้าใจว่า ดั้งเดิมตั้งใจจะให้การประกอบกิจการด้านโรงกลั่นและการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงลงหลักปักฐานได้ แต่วันนี้เลยจุดนั้นไปแล้ว ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีกฎหมายที่คุ้มครองประชาชนและให้การค้าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นไปด้วยความถูกต้อง แน่นอนพวกที่เป็นผู้ประกอบการอยู่กันมาแบบมา โกยกำไรมหาศาล จะคุ้มครองประชาชนย่อมส่งผลกระทบกับกำไรของพวกเขา แต่ถามว่าถึงเวลาหรือยังที่รัฐต้องหันกลับมาดูแลประชาชนบ้าง 50 กว่าปีที่ผ่านมาดูแลผู้ประกอบการฝ่ายเดียวตลอดมายังไม่เพียงพออีกหรือ การจะทำแบบนี้ได้ต้อง “รื้อ” ระบบกฎหมาย เพื่อ “ลด” ภาระประชาชน เพื่อ “ปลด” พันธนาการชีวิตจากระบบเดิม และเพื่อ “สร้าง” กติกาที่ถูกต้องและเป็นธรรมกับประชาชนผู้บริโภค ตามแนวทางและนโยบาย “รื้อ ลด ปลด สร้าง” ของผม ซึ่งตรงกับนโยบายรัฐบาลที่ตั้งใจจะลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้”
.
ส่วนเรื่องค่าไฟ ผมขออธิบายให้เข้าใจตรงกันว่า การปรับลดค่าไฟฟ้าเหลือเฉลี่ย 4.15 บาทต่อหน่วย เพื่อเป็นของขวัญให้กับประชาชน ซึ่งจะมีผลตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย. 2568 นั้น ไม่ใช่ลดเพียง 3 สตางค์ จากค่าไฟฟ้าปัจจุบันที่อยู่ที่ราคา 4.18 บาทต่อหน่วย เหมือนที่คนที่ไม่เข้าใจพยายามจะสร้างกระแส ต้องเข้าใจก่อนว่าค่าไฟฟ้าต้องปรับทุก 4 เดือน ตามการผันแปรของราคาก๊าซในตลาดโลก ที่เรียกว่าค่า FT เพราะเราใช้ก๊าซเป็นหลักในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการ กกพ. ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการพลังงาน
.
ดังนั้นค่าไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาจะมีผลเพียงแค่ 4 เดือนแล้วกลับไปปรับราคาใหม่ ที่ผ่านมาหนึ่งปีเต็มตลอดปี 2567 ผมบริหารจัดการกับผู้เกี่ยวข้องจนสามารถยันราคาค่าไฟฟ้าให้ประชาชนไว้ที่หน่วยละ 4.18 บาท ทุก 4 เดือน ในความเป็นจริงการที่ยันราคาไว้ที่ 4.18 บาท ได้นั้น ไม่ใช่ยืนราคาเดิมนะครับ แต่ปรับจากราคาที่ กกพ. คิดว่าควรจะเป็นในแต่ละ 4 เดือนตลอดมา อย่างครั้งหลังสุดสำหรับช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2567 นี้ เดิมตัวเลขออกมาที่ 5.64 บาทต่อหน่วย ตกใจกันไปหมด!!!
.
ตอนนั้นผมไปประชุมที่ซาอุดีอาระเบีย พอกลับมาผมก็รีบบริหารจัดการแก้ไขปัญหาและขอความร่วมมือทั้งจาก กฟผ. และ ปตท. จนสามารถกลับมายืนราคาที่ 4.18 บาท ต่อหน่วยเช่นเดิม นี่ไม่ใช่ราคาไม่เปลี่ยนแปลงนะครับแต่การที่บริหารจัดการให้อยู่ในราคาเดิมได้เท่ากับลดราคาลงไปจากที่ต้องเก็บจริงถึง 1.46 บาทต่อหน่วย เช่นกันครับ
.
สำหรับค่าไฟฟ้างวดเดือนมกราคม-เมษายน 2568 จำข่าวได้ไหมครับว่า จะต้องขึ้นไปที่ 5.49 บาทต่อหน่วย หลังจากการบริหารจัดการและความร่วมมือจาก กฟผ. และ ปตท. ทำให้ยังยันราคาไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย แต่ผมขอให้ กฟผ. และ ปตท. ช่วยกันดูว่าจะปรับลดเพิ่มได้อีกเท่าไหร่หรือไม่ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน สุดท้ายได้ที่ราคา 4.15 บาทต่อหน่วย เท่ากับปรับลดไป 1.34 บาทต่อหน่วย ไม่ใช่ 3 สตางค์แบบที่พยายามปั่นกันครับ ซึ่งราคานี้ กฟผ. ยังคงมีเงินเหลือไปใช้คืนหนี้ค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ.รับภาระแทนพี่น้องประชาชนไปก่อนหน้านี้ได้เป็นจำนวน 13,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่ กฟผ. และ ปตท. รับได้ และไม่กระทบความมั่นคงและความมีเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าหลักของประเทศ
.
– อยากทราบสาเหตุของการที่ช่วงนี้หลายโครงการถูกสั่งทบทวน สั่งระงับ ไม่ว่าจะเป็นการระงับการจัดซื้อจัดจ้างการขุดและขนลิกไนต์ด้วยวิธีพิเศษมูลค่า 7,250 ล้านบาท ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การระงับกระบวนการสรรหาคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) การระงับการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเฟสสองจำนวน 3,600 เมกะวัตต์ เป็นห่วงหรือไม่ว่า เรื่องนี้จะกระทบต่อค่าไฟ ทำให้การดำเนินการของกกพ.ชะงัก หรือส่งผลกระทบต่อการจัดหาไฟฟ้าสะอาดที่ไม่เพียงพอและไม่ทันการณ์
.
คำตอบง่ายมากครับ คือทุกเรื่องเพิ่งเกิดขึ้นไล่ ๆ กันในช่วงนี้ ก็เท่านั้น ไม่ใช่เกิดมานานแล้วผมเพิ่งมาสั่ง เรื่องความจำเป็นรีบเร่งนั้นเข้าใจแต่ความรีบเร่งไม่ใช่ว่าทำให้สามารถทำอะไรที่อาจจะไม่ถูกต้องได้ กรณีของปัญหาการประมูลขุดถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ ไม่ใช่เพิ่งจะทำ ทำกันมานานแล้ว ผมทราบเรื่องก็กำชับไปว่าให้ทำให้ถูกต้อง ผิดพลาดมามีการร้องเรียนแล้วจะส่งผลกระทบทำให้เกิดความล่าช้า ใครชนะใครแพ้ใครได้งาน ไม่ใช่เรื่องของผม แต่กระบวนการและขั้นตอนต้องถูกต้องโปร่งใส
.
ผมเข้าใจดีถึงสาเหตุและความจำเป็นที่ต้องเร่งรีบในการดำเนินการของทุกหน่วยงาน แต่ความเร่งรีบมันต้องทำให้โปร่งใสด้วย สุดท้ายก็มีการร้องเรียนจริง ๆ ถ้ากลัวความล่าช้าทำไมไม่ทำให้ถูกต้องโปร่งใสแต่แรกจะได้ไม่มีการร้องเรียน พอทำผิดพลาดมีการร้องเรียนมาอ้างความล่าช้า ผมเป็นรัฐมนตรีที่กฎหมายกำหนดให้ต้องกำกับดูแลให้ กฟผ. ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลและมีอำนาจสอบสวนข้อเท็จจริงต่าง ๆ รัฐบาลมีนโยบายไม่ให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบ เมื่อมีผู้ร้องเรียนผมไม่ดำเนินการผมก็มีความผิดเอง
.
ส่วนเรื่อง การสรรหากรรมการ กกพ. เป็นเรื่องของสำนักงานคณะกรรมการ กกพ. พอดำเนินการไปมีการแจ้งมาว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และระเบียบที่ใช้อยู่ก็ไม่สอดคล้องกับกฎหมายปัจจุบัน ซึ่งผมเคยกำชับให้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนก็ได้รับแจ้งว่าหารือแล้ว พอมีการแจ้งมาถึงความผิดพลาดสอบถามอีกทีบอกว่าไม่ได้สอบถามกฤษฎีกา อ้าว แล้วจะให้ผมทำอย่างไร
.
ขณะที่ เรื่องประมูลไฟฟ้าพลังงานสะอาด 3,600 เมกะวัตต์นั้น เป็นเรื่องเดิมตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 ก่อนผมจะเป็นรัฐมนตรีพลังงาน กพช. มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หลังจากที่ผมเป็นรัฐมนตรีก็ไม่เคยมีเรื่องนี้มาหารือกันในที่ประชุม กพช. เลย ทั้งผมและท่านนายกรัฐมนตรี ที่เป็นประธาน กพช. ทั้งท่านเศรษฐา ทวีสิน และท่านแพทองธาร ชินวัตร จึงไม่เคยทราบเรื่องนี้มาก่อน
.
ต่อมาประมาณกลางปี 2567 ท่านปลัดกระทรวงพลังงาน และฝ่ายเลขาของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. ที่มีผมเป็นประธาน ซึ่งเป็นเหมือนคณะอนุกรรมการของ กพช. ก็นำเรื่องมาหารือกับผมว่าจะต้องมีการประมูลพลังงานไฟฟ้าสะอาด 1,500 เมกะวัตต์ ซึ่งเดิมกำหนดไว้ให้ผู้ที่เคยเข้าประมูลไฟฟ้าพลังงานสะอาดโครงการแรก 5,000 เมกะวัตต์ แต่ไม่ได้งาน ให้เป็นผู้มีสิทธิได้งานในส่วน 1,500 เมกะวัตต์นี้ ที่ควรจะเปิดประมูลใหม่มากกว่า ผมเห็นด้วยและให้นำเรื่องเข้าที่ประชุม กพช. แต่รับแจ้งว่า เรื่องนี้ทาง กพช. มอบอำนาจให้ กบง. ที่ผมเป็นประธานพิจารณาได้เลย
.
ผมจึงนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม กบง. ต่อมาจึงทราบว่า 1,500 เมกะวัตต์นี้ เป็นส่วนหนึ่งของ 3,600 เมกะวัตต์ ที่ถูกแบ่งเป็นสองส่วนคือ 2,100 เมกะวัตต์ กับ 1,500 เมกะวัตต์ โดยในส่วน 2,100 เมกะวัตต์นี้ คณะกรรมการ กพช. มีมติให้ กกพ. นำไปดำเนินการโดยให้สิทธิแก่ผู้ที่ไม่ได้งานในส่วน 5,000 เมกะวัตต์แรก ซึ่ง กกพ. ดำเนินการไประดับหนึ่งแล้วแต่ยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการ ผมจึงเกิดข้อสงสัยว่าถ้า 1,500 เมกะวัตต์ กับ 2,100 เมกะวัตต์ มาจาก 3,600 เมกะวัตต์ เหมือนกัน ก็ควรกำหนดเงื่อนไขเหมือนกัน ในเมื่อ 1,500 เมกะวัตต์กำหนดใหม่ให้เปิดประมูลใหม่และส่วนของ 2,100 เมกะวัตต์ ยังไม่เสร็จสิ้น
.
ทำไมไม่แก้ไขให้หลักเกณฑ์เหมือนกัน และเหตุใดจึงต้องแบ่ง 3,600 เมกะวัตต์ เป็น 2,100 เมกะวัตต์ กับ 1,500 เมกะวัตต์ พยายามสอบถามทุก ๆ ฝ่ายแต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ผมก็กำลังจะแก้ไขปัญหานี้ พอดีฝ่ายค้านถามกระทู้เรื่องนี้ ผมก็ไปตอบว่าผมกำลังดำเนินการอยู่ ก็มีคนทำหนังสือเปิดผนึกถึงท่านนายกฯ เเพทองธาร ในเรื่องนี้ต่ออีก ท่านนายกฯ แพทองธาร ก็มาคุยกับผม และมอบให้ผมตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าจะดำเนินการหรือแก้ไขปัญหาอย่างไร
.
ผมจึงมีหนังสือแจ้งไปทาง กกพ. ให้หยุดเรื่องนี้ไว้ก่อน แม้อำนาจเต็มจะอยู่ที่ กพช. กับ กกพ. แต่ผมก็ต้องลงมือทำอะไรบางอย่างก็เท่านั้น ต่อมาเมื่อทาง กกพ. เดินหน้า โดยอ้างว่าเป็นอำนาจของ กพช. ที่มีท่านายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ท่านนายกฯ ก็หารือกับผมว่าท่านคิดว่าเรื่องนี้คงต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงกันก่อน พอดีมีการประชุม กพช. เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 ท่านนายกฯ ก็บอกกับผมว่าท่านจะนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุม กพช. ด้วย แต่ท่านเกิดติดภารกิจด่วน จึงมอบให้ผมทำหน้าที่ประธานที่ประชุม กพช. แทน และบอกให้ผมนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม กพช. เพื่อให้ทางการไฟฟ้าทั้งสามแห่งชะลอการทำสัญญารับซื้อไฟฟ้า 2,100 เมกะวัตต์ และให้หารือกฤษฎีกาถึงกรอบอำนาจของ กพช. ในเรื่องนี้ เรื่องก็มีเท่านี้
.
สรุป คือเรื่องนี้เกิดมาก่อนรัฐบาลท่านเศรษฐาและท่านแพทองธาร แต่รัฐบาลปัจจุบันต้องรับผิดชอบทั้งๆ ที่ไม่รู้ความเป็นมาเลย ก็ต้องชะลอเรื่องและตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดก็เดินหน้ากันต่อก็เท่านั้น
.
– จริงหรือไม่ที่มีการพูดกันว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการประชุมนัดแรกมีการประชุมเครียด และมีความขัดแย้งกัน
.
ในการประชุม กพช. ทุกนัด ตั้งแต่สมัยรัฐบาลท่านนายกฯ เศรษฐา มาจนรัฐบาลท่านนายกฯ แพทองธารในปัจจุบัน ทั้งผม ทั้งท่านนายกฯเศรษฐา และท่านนายกฯ แพทองธาร ไม่เคยมีอะไรขัดแย้งกันเลย หารือและเห็นสอดคล้องกันอย่างดีในทุกเรื่องตลอดมา ไม่ได้มีอะไรขัดแย้งกันเลย ท่านเลขาธิการนายกฯ ก็เป็นผู้ประสานงานและสรุปความเห็นในวาระประชุมต่าง ๆ อย่างดีตลอดมา แต่กลายเป็นว่าบางกลุ่มพยายามประโคมข่าวว่า ขัดแย้งกัน ด้วยวัตถุประสงค์ใดผมก็ไม่ทราบ ก่อนหน้าการประชุม กพช. ครั้งหลังสุดนี้ ท่านนายกฯ แพทองธาร เป็นประธานที่ประชุม ทั้งผมทั้งท่านนายกฯ แพทองธาร ก็ร่วมกันทำงานอย่างดี แต่หลังประชุมกลายเป็นว่าสื่อประโคมข่าวกันใหญ่โตว่าผมขัดแย้งกับท่านนายกในที่ประชุม ผมไม่ทราบว่าเป็นมาอย่างไร และสื่อมีวัตถุประสงค์เป้าหมายใด แต่ทั้งหมดไม่เป็นความจริง
.
– กรณีที่มีการระบุว่า รองนายกฯ พีระพันธุ์ เพิกเฉย ไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาแหล่งพลังงานบนพื้นที่ทับซ้อน และกระบวนการเจรจาเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (Overlapping Claims Area: OCA) ระหว่างไทยและกัมพูชานั้นข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
.
เรื่องนี้ก็ไม่เป็นความจริง ผมเป็นคนพูดอะไรตรงๆ เรื่องนี้เดิมท่านนายกฯ ไม่เคยมาหารืออะไรกับผม เพราะทุกรัฐบาลจะให้ทางกระทรวงการต่างประเทศนำหน้านักข่าวมาถามผม ๆ ก็ตอบไปตรง ๆ ว่าผมไม่ทราบเรื่อง เพราะผมไม่ได้ร่วมพูดคุยด้วย นักข่าวถามว่า ท่านนายกฯ ไม่ได้หารืออะไรหรือ ผมก็ตอบว่า ไม่มี เพราะไม่มีจริง ๆ ผมพูดความจริงแล้วมันผิดตรงไหน ไม่ใช่ว่าท่านนายกฯ ไม่ได้หารือเลย แต่ผมกลับให้สัมภาษณ์เป็นต่อยหอย อย่างนี้สิที่ไม่ถูกต้อง หลังจากนั้นท่านภูมิธรรม เวชยชัย มาสอบถามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกับผมแบบพูดคุยกันทั่ว ๆ ไป ผมก็ให้ข้อมูลท่านไป แต่นักข่าวยังไม่ได้มาถามผมอีก ก็เท่านั้น บางกลุ่มพยายามจะให้มีเรื่องขัดแย้งกันตลอดเวลา ไม่ทราบว่ามีปัญหาอะไร
.
– หลายคนยังบ่นว่า เข้าไม่ถึงคุณพีระพันธุ์ เป็นบุคคลที่เข้าพบยาก
.
ไม่จริงเลยครับ เจ้าหน้าที่ข้าราชการทุกคนตั้งแต่ระดับเล็ก จนถึงระดับปลัด ใครก็เข้าพบผมได้ตลอด แต่ผมไม่ออกงานสังคม และงานที่ไม่จำเป็น เพราะเวลาทำงานก็แทบจะไม่มีอยู่แล้ว ใครจะขอพบผมถ้าเป็นเรื่องงานพบได้ตลอด แต่ถ้ามาพบแบบมาแสดงความยินดี เอาของมาฝาก หรือคุยโน่นนี้ทั่วไป ผมไม่มีเวลาให้เพราะผมต้องทำงาน อย่างที่บอกครับทุกวันนี้ก็แทบจะไม่ได้นอนอยู่แล้ว
.
– อยากให้ฉายภาพให้เห็นถึงโครงการที่จะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในปี 2568 ว่า มีอะไรบ้าง
.
ปี 2568 นี้ ผมวางเป้าหมายไว้ว่าจะต้องเสนอกฎหมายสำคัญด้านน้ำมันและพลังงานโซลาร์เซลล์เข้าสภาให้ได้ แต่กระบวนการทำงานในระบบราชการและรัฐบาลช้ามาก ต้องดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายหลายขั้นตอน ในส่วนของกฎหมายที่จะอนุญาตให้ประชาชนใช้พลังงานแสงอาทิตย์หรือที่เรียกกันว่าโซลาร์เซลล์นั้น ผมร่างเสร็จแล้ว โดยมอบให้ท่านอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ช่วยดำเนินการยกร่างต้นฉบับและช่วยกันแก้ไขเสร็จแล้ว แต่ในส่วนของรัฐบาลต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน ผมเลยให้เสนอกฎหมายนี้ในนามของพรรครวมไทยสร้างชาติ ไปก่อน เพราะบอกกับประชาชนไว้แล้วว่าจะนำเข้าสภาตอนปีใหม่
.
ส่วนกฎหมายสำคัญอีกฉบับหนึ่ง คือกฎหมายว่าด้วยการกำกับการประกอบกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง กฎหมายนี้จะมีกติกาที่ไม่ให้ปรับราคาน้ำมันขึ้นลงรายวัน มีระบบพิสูจน์ต้นทุน และยกเลิกการอ้างอิงราคาน้ำมันที่สิงคโปร์ โดยนำระบบต้นทุนบวกค่าใช้จ่ายจริงที่เรียกว่าระบบ COST PLUS มาใช้แทน ที่สำคัญคือ จะให้มีน้ำมันเพื่อเกษตรกร ชาวประมง ในราคาที่ถูกลง และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนส่งและองค์กรสาธารณกุศลสามารถนำน้ำมันเข้ามาใช้ได้เอง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนลงได้มาก และยังจะเปิดโอกาสให้รัฐสามารถจัดให้มีน้ำมันเพื่อผู้มีรายได้น้อยด้วย กฎหมายที่จะตามมาคือกฎหมายการสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง หรือ Strategic Petroleum Reserve (SPR) ที่จะนำมาใช้แทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและสร้างความมั่นคงให้ประเทศ
.
อีกอย่างหนึ่งคือ ผมกำลังเร่งผลิตอุปกรณ์สำหรับผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในราคาถูก ที่เรียกว่าอุปกรณ์ invertor ที่มีราคาแพงแต่เราน่าจะทำได้ในราคาเพียง 1 ใน 4 ของราคาจำหน่ายทั่วไปในปัจจุบัน นอกจากจะช่วยให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายด้านนี้แล้ว ยังจะช่วยสร้างอาชีพใหม่เพราะกระทรวงพลังงานจะจัดอบรมผู้ที่จะรับติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้ประชาชนไปประกอบอาชีพนี้ด้วย สุดท้ายคือจะหาระบบเงินทุนมาติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ด้วย นี่คือที่ผมตั้งเป้าไว้สำหรับปี 2568 ครับ ก่อนสรุปจบทิ้งท้าย “ผมเชื่อว่าถ้าเรายืนข้างประชาชน ประชาชนจะปกป้องเรา”
.
งานนี้ต้องจับตาเจ้าของฉายา “พีระพัง” ที่เจ้าตัวประกาศชัดว่า พร้อม “พัง” ทุกการผูกขาด “พัง” ระบบที่เน่าเฟะ “พัง” การโกงกินทุกรูปแบบ เพื่อผลประโยชน์ประเทศชาติ และพี่น้องประชาชน จะสามารถเดินหน้าได้ตามเป้าหมายจริงหรือไม่!!!
 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า