“เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” เยี่ยมชมนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ชูประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ในปี 70 เพิ่มรายได้-สร้างแรงงาน ตามมาตรการพัฒนาอุตฯ ชีวภาพ
.
วันที่ 6 ธันวาคม 2567 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ เยี่ยมชมโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ และโครงการตามมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ณ บริษัท จีจีซี เคทิส เคทิส ไบโออินดัสเทรียล จำกัด จังหวัดนครสวรรค์ โดยมี นายใบน้อย สุวรรณชาตรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย นายสามารถ น้อยวัน รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย นายธีรทัศน์ อิรศรางกูร ณ อยุธยา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมลงพื้นที่ และมีนางสาวชุติพร เสชัง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ นายณะรงศักดิ์ จิวากานันต์ ผู้บริหารระดับสูง บริษัท พีพีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (จีซี) นายกัมพล ชัยกิจโกสีย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท จีจีซี เคทิส ไบโออินดัสเทรียล จำกัด ให้การต้อนรับ
.
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามนโยบายภาครัฐได้ส่งเสริมมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย และโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นกลไกในการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อก้าวเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่สังคมคาร์บอนต่ำที่มีเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 โดยบริษัท จีจีซี เคทิส ไบโออินดัสเทรียล จำกัด ได้ดำเนินโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ในพื้นที่อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยโครงการระยะที่ 1 ได้เริ่มดำเนินการในปี 2567 มีวัตถุดิบหลัก คือ อ้อย ผลิตภัณฑ์หลัก คือ เอทานอลและพลังงานชีวมวล ส่วนโครงการระยะที่ 2 เป็นการลงทุนระบบสาธารณูปโภคเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเนื่องชีวภาพ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัท Natureworks จากสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพคาร์บอนต่ำ (Polylactic acid : PLA) รายใหญ่ของโลก ได้ใช้น้ำตาลทรายดิบเป็นวัตถุดิบจากนอกพื้นที่โครงการฯ โดยระยะที่ 1 ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบอยู่แล้ว หากสามารถปรับปรุงโรงงานให้ผลิตน้ำตาลทรายดิบเพื่อใช้ในพื้นที่โครงการ จะส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ นอกจากนี้ทางบริษัทฯ มีการวางแนวทางก่อสร้างและทดลองเดินเครื่องจักร คาดจะเริ่มได้ในปี 2568 พร้อมศึกษาความเป็นไปได้ในการต่อยอดเอทานอลไปสู่พลาสติกชีวภาพอากาศยานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ
.
ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้ให้ข้อมูลความก้าวหน้าการดำเนินงานสำคัญภายใต้มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ.2561-2570 ของปี 2566 ผ่าน 4 มาตรการหลัก คือ 1) ขจัดอุปสรรคการลงทุนและสร้างปัจจัยสนับสนุน โดยมีการปรับปรุงประกาศ อก. เรื่องการให้ตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ.2562 เพิ่มกิจการอุตสาหกรรมชีวภาพในบัญชีท้ายกระทรวงกำหนดประเภท ชนิด และขนาดของโรงงาน (ฉ.2) พ.ศ.2564 ปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2565 และปรับปรุงผังเมืองเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมชีวภาพ 2) เร่งรัดการลงทุนภายในประเทศ โดยผลักดันการลงทุนในพื้นที่มีศักยภาพ EEC มูลค่าโครงการลงทุนใน Bio Hub กว่า 164 แสนล้านบาท 3) กระตุ้นอุปสงค์ ออกมาตรการคลังสนับสนุนอุตสาหกรรมชีวภาพ ออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ผลักดันตราสัญลักษณ์พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ และ 4) สร้างเครือข่าย CoBE โดยจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ ณ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี สร้างเครือข่ายด้านงานวิจัยอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ 77 หน่วยงาน เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ 17 หน่วยงาน และเทคโนโลยีเชิงลึกการเกษตร 15 มหาวิทยาลัย จัดทำหลักสูตรพัฒนาอบรมบุคลากรชีวภาพกว่า 850 ราย ทั้งนี้ประเทศไทยจะเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี 2570 ตามมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย คาดจะเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศกว่า 190,000 ล้านบาท เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 85,000 บาทต่อคนต่อปี มีการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรกว่า 800,000 ครัวเรือน และมีการผลิตและจ้างแรงงานที่มีความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญสูงกว่า 20,000 ตำแหน่ง