วันที่ 6 ธันวาคม 2567 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงการเข้าพบหารือกับ นายนาคาดะ ฮิโรชิ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม (MOEJ) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากทั้งสองประเทศ ในระหว่างการเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ว่า กระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น และกระทรวงอุตสาหกรรมไทย มีความร่วมมือที่ดีอย่างยาวนาน โดยเฉพาะด้านการจัดการกากอุตสาหกรรม ผ่านบันทึกความร่วมมือ (MOC) ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งรัฐบาลไทยมีความตั้งใจอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้ง และการจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบอย่างเร่งด่วน โดยเชื่อมั่นว่าความร่วมมือของทั้งสองประเทศจะสามารถทำให้ก้าวข้ามอุปสรรคนี้ไปได้
.
“ในการหารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น ได้มีแลกเปลี่ยนข้อมูล และหาแนวทางการกำกับดูแลโรงงาน และการจัดการกากอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น มาปรับใช้ในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติกากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งกองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน ที่กระทรวงฯ กำลังดำเนินการอยู่” นายเอกนัฏ ระบุ
.
นายเอกนัฏ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) แห่งแรกในพื้นที่ EEC ด้วยว่า ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการรีไซเคิล และการลดของเสียจากทางญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Circular ของไทย ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการเกิดของเสีย และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน
.
ด้าน นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม โดย
กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ร่วมมือกับศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมนานาชาติ (International Center for Environmental Technology Transfer : ICETT) แห่งประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมกันขับเคลื่อนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมไทย มุ่งสู่อุตสาหกรรม (Green Industry) และความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โดยมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ
.
“ความร่วมมือกับ ICETT ตลอดจนลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOC) กับสำนักฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและวัฏจักรของวัสดุ กระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2559 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม มุ่งเน้นแลกเปลี่ยนข้อมูล นโยบาย และองค์ความรู้เพื่อจัดการกากของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด” นายณัฐพล กล่าว
.
ขณะที่ นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่ง ผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นได้พัฒนาแนวทางการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง กนอ.เองก็มีการพัฒนาระบบติดตามการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมแบบทันสถานการณ์ (Real-Time) มาตั้งแต่ปี 2562 โดยเริ่มนำร่องในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือเป็นแห่งแรก เพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน โดยระบบนี้ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามตรวจสอบเส้นทางการขนส่งกากอุตสาหกรรมได้ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ณ สถานที่รับกาก ลดโอกาสการลักลอบทิ้ง สร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชน และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมและสังคม สอดคล้องกับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับล่าสุด เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566
.
“กนอ.ได้ขยายผลระบบติดตามการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมแบบ Real Time ใน 14 นิคมอุตสาหกรรมแล้ว ซึ่งจะช่วยลดอัตราการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอย่างผิดกฎหมาย สร้างภาพลักษณ์ใหม่ของอุตสาหกรรมที่สะอาด สอดรับแนวทางส่งเสริม BCG Economy และ Carbon Neutral ที่เป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” นายสุเมธ ระบุ