เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 เวลา 13.30 น. นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้คณะผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) เข้าพบเพื่อหารือแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการภายใต้กฎหมาย EUDR โดยมี นายธนารักษ์ พงษ์เภตรา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร นายวิกรม วัชรคุปต์ กรรมการบริหาร รองประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร และคณะผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมหารือ พร้อมด้วย นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ด้านยุทธศาสตร์ นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคาร สปอ.
.
สำหรับวัตถุประสงค์การหารือในครั้งนี้ เพื่อเป็นการหาแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการภายใต้กฎหมาย EU Deforestation-free Product Regulation: EUDR (กฎหมายว่าด้วยการนำเข้าและส่งออกสินค้าที่มีความเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า) ซึ่งเป็นกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า โดยกำหนดให้ส่งออกและนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ 7 กลุ่มของ EU ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน วัว ไม้ กาแฟ โกโก้ และถั่วเหลือง รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากสินค้าเหล่านี้ ต้องดำเนินการตรวจสอบสถานะและรายงานที่มาของสินค้า เพื่อให้ความมั่นใจว่าสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายไม่ได้มาจากการตัดไม้ทำลายป่า
.
จากประเด็นดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยในภาพรวมดังนี้ ผู้ผลิตและผู้ส่งออกต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนสูงขึ้น เนื่องจาก EUDR กำหนดให้ผู้นำเข้าในสหภาพยุโรป หรือ EU ที่ต้องการซื้อสินค้าเป้าหมายทั้ง 7 กลุ่ม จากประเทศไทย ต้องตรวจสอบ DUE GILIGENCE ว่าสินค้าจากไทยไม่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่าและมาจากการผลิตที่ถูกต้องตามกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ข้อมูลจากผู้ส่งออกไทยเพื่อยืนยัน ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากผู้ประกอบไทยบางรายไม่สามารถขายสินค้าใน EU ได้ ทั้งนี้ การหารือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เสนอให้มีการจัดทำ การยืนยันพื้นที่การทำเกษตรว่าพื้นที่ใดไม่อยู่ในเขตพื้นที่ป่า เพื่อทำ Geolocation Map ออกมาตรการบังคับใช้เกี่ยวกับการปลูกพืชแต่ละชนิดที่จะส่งออกไปขายยัง EU ทำระบบ Audit และรับรอง Auditor เพื่อตรวจสอบขั้นตอนการปลูกพืชว่าถูกต้องตามกฎระเบียบหรือไม่ จัดทำฐานข้อมูลการจดทะเบียนเกษตรกรทั้ง Supply chain การเจรจาเรื่อง Map ของไทย กับ EU ให้เป็นที่ยอมรับ และทำระบบ Traceability ให้มีความน่าเชื่อถือ โปร่งใสและตรวจสอบได้
.
รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการจัดทำฐานข้อมูล ซึ่งจะต้องมีการวาง Platform, Database และหน่วยงานเจ้าภาพในการจัดทำ เป็นตัวกลางในการประสานงาน ทั้งด้านการเกษตร ด้านมาตรฐาน และด้านพื้นที่เพาะปลูก โดย กระทรวงอุตสาหกรรม มีการจัดทำฐานข้อมูล I-Industry และระบบ I-Single Form ซึ่งเป็นฐานข้อมูลในด้านต่าง ๆ ของผู้ประกอบการ ข้อมูลของสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย ในการเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการ และเกษตรกร ข้อมูลเหล่านี้เป็นแบบอย่างที่สามารถนำไปปรับใช้เป็นระบบฐานข้อมูลแบบครบวงจรได้ ตัวอย่างเช่น การลงทะเบียนพื้นที่ที่มีการปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน โกโก้ ว่าไม่ได้อยู่ในพื้นที่ป่า ไม่ได้บุกรุกทำลายป่า เป็นต้น ซึ่งระบบนี้ จะเป็นการรวบรวมข้อมูล เพื่อเป็นการลดขั้นตอนในการตรวจสอบของผู้ประกอบการ โดยในอนาคตจะส่งผลดีต่อประเทศไทยในการวางระบบของฐานข้อมูลในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการขยายฐานข้อมูล การบูรณาการด้านการเกษตร ด้านการผลิต ด้านการส่งออก และในด้านอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงในทุกมิติต่อไป