อนุชา บูรพชัยศรี สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติอันดามัน ที่อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา
.
ทั้งนี้เนื่องจากสนามบินภูเก็ต มีเพียง 1 ทางวิ่ง (รันเวย์) มีขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินอยู่ที่ 25 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ปัจจุบันได้ให้บริการเต็มขีดความสามารถ และไม่สามารถขยายรันเวย์ได้เพิ่มเติมแล้ว เนื่องจากพื้นที่ติดทะเล การท่าอากาศยานแห่งประเทศ (ทอท.) จะมีแผนพัฒนาสนามบินภูเก็ตระยะที่ 2 งานก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ วงเงิน 5,800 ล้านบาท รองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 18 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะเปิดบริการได้ในปี 2572-2573 แต่ก็สามารถรองรับเที่ยวบินได้ 25 เที่ยวบินต่อชั่วโมงเท่าเดิม
.
ดังนั้น จึงต้องเร่งดำเนินการพัฒนาสนามบินอันดามัน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต และ จ.พังงา มากขึ้น
.
สำหรับงบประมาณการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติอันดามันแห่งใหม่นี้ คาดว่าจะใช้วงเงินลงทุน 80,000 ล้านบาท ท่าอากาศยานแห่งนี้มี 2 รันเวย์ รองรับผู้โดยสารได้ 22.5 ล้านคนต่อปี รองรับเที่ยวบินได้ 43 เที่ยวบินต่อชั่วโมง
.
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพื้นที่ซึ่งจะดำเนินโครงการก่อสร้างสนามบินอันดามัน อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองทุ่ง
มะพร้าว ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ดังนั้น จึงมีหลายหน่วยงานรวมทั้งองค์กรภาคเอกชนทักท้วงว่า “พื้นที่ดังกล่าวไม่เหมาะสมในการดำเนินการก่อสร้างสนามบิน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องก็ได้เสนอ พื้นที่ที่จะดำเนินการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ อยู่ที่ตำบลโคกกลอยและตำบลหล่อยูง
.
นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ (ทุ่งเลี้ยงสัตว์) หลายแห่ง รวมทั้งหมด 7 หมู่บ้าน 2 ตำบล มีเนื้อที่ 20,555 ไร่ และพื้นที่โครงการทั้งหมด ต้องมีการดำเนินการขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ตามกฎหมายและต้องมีการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ เช่น กฎหมายของกรมที่ดิน กฎหมายของกรมธนารักษ์
.
ทั้งนี้ การเดินทางมาลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับทราบข้อมูล และข้อเสนอแนะอื่นๆอันเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ดังนี้
.
1. บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อรับทราบข้อมูลรายละเอียดแผนการดำเนินงานโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติอันดามัน และผลการดำเนินการศึกษาความเหมาะสม และวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุนของโครงการฯ รวมถึงแนวทางในการดำเนินการเรื่องค่าชดเชยที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการฯ เช่น ค่าเวนคืนที่ดิน ค่าชดเชยเส้นเสียง
.
2. กรมทางหลวง เพื่อรับทราบแนวทางการพัฒนาโครงข่ายทางถนนในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงเพื่อรองรับโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติอันดามัน
.
3. กรมทางหลวงชนบท เพื่อรับแนวทางการพัฒนาโครงข่ายทางถนนในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท เพื่อรองรับโครงการฯ
.
4. ที่ดินจังหวัดพังงา เพื่อรับทราบแนวทางในการใช้ที่ดินเพื่อดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปตามกฎหมายที่ดินและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
.
5. ธนารักษ์พื้นที่พังงา เพื่อรับทราบแนวทางในการใช้ที่ดินเพื่อดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปตามกฎหมายของกรมธนารักษ์ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง