ปธ.กมธ.อุตสาหกรรม จี้ ปตท. ตรวจสอบบริษัทที่ติดตรา มอก. โดยไม่ได้รับอนุญาตในถังดับเพลิงรถไฟฟ้า หวั่นอาจเกิดโศกนาฏกรรมหมู่ซ้ำรอยแบบรถบัสนักเรียน
.
วันที่ 17 ตุลาคม 2567 นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้แถลงข่าวของ กรรมาธิการอุตสาหกรรมฯว่า
.
จากปัจจุบันประชาชนได้หันมาใช้รถยานยนต์ไฟฟ้าหรือรถ EV ซึ่งใช้แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ซึ่งหากเกิดเหตุเพลิงไหม้ การดับเพลิงจะทำได้ยากกว่าเหตุเพลิงไหม้ทั่วไป ซึ่งทางคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรมได้มีความเป็นห่วงอย่างยิ่งในเรื่องนี้ จึงได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาประสิทธิภาพการระงับเหตุเพลิงไหม้จากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขึ้นมาโดยเฉพาะ
.
คณะทำงานชุดดังกล่าวได้รวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง จากหลายภาคส่วน เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย, สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร, สมาคมดับเพลิงและช่วยชีวิต พบข้อมูลเบื้องต้นว่าประสิทธิภาพของทั้งอุปกรณ์ และสารเคมีดับเพลิงในการระงับเพลิงไหม้ที่เกิดจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนยังไม่มีความพร้อมเท่าที่ควร
.
ดังนั้นจึงเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดับเพลิงที่เกิดจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน เพื่อลดการสูญเสียในชีวิต และทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน
.
นอกจากนี้คณะทำงานชุดดังกล่าว ยังได้พบว่าในท้องตลาดมีผลิตภัณฑ์ดับเพลิง หรือ ถังดับเพลิง ซึ่งอ้างว่าสามารถใช้ดับเพลิงที่เกิดจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนหรือรถ EVได้ และยังมีตรา มอก. กำกับ แต่อย่างไรก็ดีจากการสืบสวนในทางลับของคณะทำงาน พบว่ามีโอกาสที่จะเป็นการลอบประทับตรา มอก. โดยไม่ได้รับอนุญาต คณะทำงานจึงนำเรื่องมาเพื่อหารือกับคณะกรรมาธิการ
.
ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ จึงได้ประสานงานไปยังเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า บริษัทดังกล่าวยังไม่ได้รับการรับรองคุณภาพจาก สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ซึ่งเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย รวมถึงมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไปแล้วอีกด้วย
.
เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่อาจจะส่งผลร้ายในอนาคตขึ้นได้ เนื่องจากประชาชนที่ใช้อุปกรณ์ดับเพลิงดังกล่าวในการดับเพลิงรถ EV หรือเพลิงไหม้จาก แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแต่ไม่สามารถดับได้จริง ย่อมจะทำให้เกิดการสูญเสียในทรัพย์สิน และอันตรายถึงชีวิตของพี่น้องประชาชนได้
.
นอกจากนี้ยังมีเอกสารหรือ การกล่าวอ้างอีกว่าบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นบริษัท ในเครือ ปตท. จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ที่จะต้องมีธรรมาภิบาลในการดำเนินการ โดยกิจการในกำกับต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และผู้บริหารต้องมีส่วนรับผิดชอบ
.
ดังนั้นตนจึงเรียกร้องไปยังบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว ว่าบริษัทที่ทำผิดกฎหมายมาตรฐานอุตสาหกรรมเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. หรือไม่ รวมทั้งออกมาชี้แจงให้สาธารณชนทราบโดยเร็ว และหากบริษัทดังกล่าวถือหุ้นโดย ปตท. จริงจะต้องมีมาตรการดำเนินการเพื่อลดความเสียหายให้กับประชาชน และจะรับผิดชอบต่อเรื่องนี้อย่างไร รวมถึงดำเนินการกับผู้กระทำความผิดกฎหมายอย่างไร นอกจากนี้ในสัปดาห์หน้าคณะทำงานของกรรมาธิการอุตสาหกรรมที่พิจารณาเรื่องนี้อยู่จะดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องดับเพลิงหรือสารดับเพลิงของบริษัทดังกล่าวที่มีการใช้ตราสินค้ามาตรฐานอุตสาหกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาตว่ามีประสิทธิภาพในการระงับเพลิงจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าหรือไม่อย่างไร ซึ่งได้มีการทดสอบไปแล้วอยู่ระหว่างการสรุปผล เสนอกรรมาธิการอุตสาหกรรมเพื่อพิจารณาดำเนินการอย่างเร่งด่วน คณะกรรมาธิการอุตสาหกรรมไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมไฟไหม้รถยนต์เหมือนที่เพิ่งเกิดขึ้นมากับรถแก๊สที่สร้างความเศร้าโศกเสียใจให้กับพี่น้องคนไทยทั้งประเทศจึงจะเร่งดำเนินการ กรณีดังกล่าวกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วนต่อไป