Skip to content
Home » ติดอาวุธให้กรมราง ‘สส.อนุชา’ สนับสนุนร่างกฎหมายขนส่งทางรา

ติดอาวุธให้กรมราง ‘สส.อนุชา’ สนับสนุนร่างกฎหมายขนส่งทางรา

‘อนุชา’ อภิปรายสนับสนุนให้สภาฯรับหลักการร่างกฎหมายฯ ให้อำนาจในการกำกับดูแลแก่กรมขนส่งทางราง ตามวัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งกรมฯ โดยยึดตามมาตรฐานสากล
.
วันที่ 16 ตุลาคม 2567 นายอนุชา บูรพชัยศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้อภิปรายร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. ในวาระที่ 1 โดยสนับสนุนให้สภาฯลงมติรับหลักการกฎหมายฉบับนี้ และตั้งกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายในรายละเอียดต่อไป
.
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีการปรับปรุงระบบบริหารราชการแผ่นดินกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการปรับปรุงในโครงสร้างขององค์กร และอำนาจหน้าที่ขององค์กร
.
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินที่แบ่งแยกบทบาทระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล หรือ Regulator ออกจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่ผู้ดำเนินการ ผู้ประกอบการ หรือ Operator ออกจากกันอย่างชัดเจน
.
ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. ก็เช่นเดียวกัน กฎหมายฉบับนี้จะกำหนดให้ “กรมการขนส่งทางราง” มีอำนาจหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลอย่างชัดเจน
.
ตนขออธิบายเพื่อทำความเข้าใจเพิ่มเติมในส่วนกรมขนส่งทางราง ซึ่งกำกับดูแลโหมดการขนส่งทางราง จะมีหน้าที่เสมือนกรมการขนส่งทางบก ที่กำกับดูแลโหมดการขนส่งทางบก กรมเจ้าท่าที่กำกับดูแลโหมดการขนส่งทางน้ำ และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยที่กำกับดูแลโหมดการขนส่งทางอากาศ
.
แม้กรมการขนส่งทางรางได้จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว แต่เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจหน้าที่ กรมจึงไม่มีอำนาจกำกับดูแลรวมถึงกำหนดนโยบายต่าง ๆ
.
จึงมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรากฎหมายฉบับนี้ออกมาเพื่อเป็นการให้อำนาจในการกำกับดูแลแก่กรมขนส่งทางราง เปรียบเสมือนการติดดาบติดอาวุธให้แก่กรมการขนส่งทางราง
.
สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบันที่มีการใช้ระบบการขนส่งทางรางอย่างมากมายไม่ว่าจะดำเนินการโดย การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. การรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. และกรุงเทพมหานคร หรือ กทม.
.
กฎหมายฉบับนี้เคยเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ด้วยเงื่อนไขเวลาจึงไม่สามารถนำยืนยันกฎหมายได้ทัน ในช่วงรอยต่อของการจัดตั้งรัฐบาล
.
นอกจากการกำกับดูแลแล้ว ในกฎหมายฉบับนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่จะมีประโยชน์กับการขนส่งคมนาคมทางรางของประเทศไทยในอนาคต โดยตนขอยกตัวอย่าง คือ
.
ในกฎหมายฉบับนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด ที่ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ผู้ทรงคุณวุฒิ และมีอธิบดีกรมการขนส่งทางรางเป็นกรรมการและเลขานุการ
.
คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจกำหนดนโยบายและแผนการขนส่งทางรางของทั้งประเทศ แม้จะมีข้อโต้แย้งว่าจะมีสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. แต่หน่วยงานดังกล่าวมีภาระหน้าที่ในการวางแผนในหลายโหมดขนส่ง แต่กรมการขนส่งทางรางจะสามารถทำหน้าที่นี้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
.
รวมทั้งกฎหมายฉบับนี้จะให้อำนาจกรมการขนส่งทางรางในการกำกับการใช้ประโยชน์ทางราง ซึ่งกรมขนส่งทางรางสามารถให้ผู้ประกอบการ หรือ operator มาใช้ประโยชน์ในรางที่มีอยู่แล้วเพิ่มเติม จากเดิมที่มีแค่ รฟท. ใช้งานรางอยู่ ทำให้รางสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
นอกจากนี้กรมการขนส่งทางรางยังจะดูแลเรื่องอัตราค่าขนส่ง ค่าโดยสาร และความปลอดภัย ผ่านการกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนแน่นอน เพื่อสามารถเสาะหาสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุเมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้นได้
.
ดังนั้นตนจึงขอสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. ในวาระที่ 1 โดยสนับสนุนให้สภาฯลงมติรับหลักการกฎหมายฉบับนี้ และตั้งกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายในรายละเอียดต่อไป

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า