Skip to content
Home » ช่วยชาวบ้านห่างวงจรนายทุนเงินกู้ ‘สส.ธนกร’ ชง 7 แนวทางสางปัญหา “หนี้นอกระบบ”

ช่วยชาวบ้านห่างวงจรนายทุนเงินกู้ ‘สส.ธนกร’ ชง 7 แนวทางสางปัญหา “หนี้นอกระบบ”

วันที่ 11 ต.ค.2567 นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ปัญหาหนี้นอกระบบ ยังคงเป็นปัญหาที่ฝังลึกในสังคมไทยมานาน และกำลังส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างรุนแรง โดยในไตรมาส 4 ปี 2566 ข้อมูลระบุว่า หนี้นอกระบบในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง 3.48 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 19% ของ GDP ประเทศ หรือประมาณ 1 ใน 5 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด
.
โดยมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว หนี้นอกระบบไม่เพียงเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อโครงสร้างสังคม และความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การบังคับให้ประชาชนต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราสูงทำให้หลายคนติดอยู่ในวงจรหนี้อย่างไม่มีทางออก ซึ่งเกิดจากการขาดแคลนเงินออม และรายได้ที่ไม่เพียงพอ สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย ตนจึงขอฝากนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรวมถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ เร่งแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และหาแนวทางแก้ไขอย่างบูรณาการเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเสนอให้รัฐบาลนำข้อมูลรายงานของคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาหนี้สิน ความยากจน และลด ความเหลื่อมล้ำที่ได้เสนอแนวทางการบริหารจัดการปัญหาหนี้นอกระบบไว้มาใช้แก้ปัญหา เพื่อบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเสนอให้มีการจัดตั้ง “ศูนย์แก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ”และการปรับปรุงข้อจำกัดของกฎหมาย ซึ่งแนวทางนี้ถือว่ามีศักยภาพมากในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างครอบคลุม 7 แนวทางดังนี้
.
โดยแนวทางแรก คือการส่งเสริมสินเชื่อถูกกฎหมาย สนับสนุนการสร้างแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ เช่น สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ หรือ ธุรกิจสินเชื่อรายย่อยที่อยู่ภายใต้การกำกับ โดยกระทรวงการคลังดำเนินการอยู่แล้ว สามารถขยายโครงการที่มีอยู่ ปัจจุบันมีนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์จำนวน 1,142 ราย ครอบคลุม 75 จังหวัด เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ปลอดภัยมากขึ้น
.
แนวทางที่ 2. รัฐบาลอาจจัดตั้งโครงการสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ เช่น สินเชื่อสำหรับผู้มีรายได้น้อย หรือสินเชื่อที่สนับสนุนการเริ่มต้นธุรกิจโดยยึดข้อมูลจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีอยู่เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ถูกต้องตามกฎหมาย
.
แนวทางที่ 3. การปรับโครงสร้างทางการเงิน และการแข่งขัน โดยส่งเสริมการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน และไมโครไฟแนนซ์ โดยเปิดโอกาสให้บริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงินเข้ามาแข่งขันในตลาดการเงินมากขึ้น เพื่อลดการผูกขาดของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยลดลง และสร้างทางเลือกให้กับประชาชนในการเข้าถึงสินเชื่อ
.
ขณะที่ แนวทางที่ 4. การปราบปรามกลุ่มนายทุนหนี้นอกระบบ ควรมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยการปรับโครงสร้างกฎหมายเพื่อปราบปรามกลุ่มนายทุนหนี้นอกระบบที่คิดอัตราดอกเบี้ยสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด และจัดตั้งหน่วยงานพิเศษที่ทำงานร่วมกับตำรวจในการตรวจสอบ และจับกุมเจ้าหนี้ที่กระทำผิดกฎหมายให้มีโทษเพิ่มขึ้น
.
ส่วนแนวทางที่ 5. การให้การศึกษาและคำปรึกษาทางการเงิน สร้างโปรแกรมให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนในระดับชุมชนเพื่อเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับ การจัดการหนี้ ให้ความรู้เรื่องการออมเงิน และการป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของหนี้นอกระบบ โดยใช้โรงเรียน สถาบันชุมชน และการฝึกอบรมออนไลน์เป็นสื่อกลาง
.
แนวทางที่ 6. การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและเพิ่มรายได้ให้ประชาชน โดยรัฐบาลควรลงทุนในโครงการฝึกอบรมทักษะ และการพัฒนาทักษะใหม่ (Reskilling/Upskilling) เพื่อเพิ่มโอกาสการจ้างงานที่มีรายได้สูง ลดการพึ่งพาหนี้สินในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
.
และแนวทางที่ 7. การปรับปรุงกฎหมาย ควรมีการปรับโครงสร้างหนี้นอกระบบให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีการอนุญาตให้ผู้ที่เป็นหนี้นอกระบบสามารถขอปรับโครงสร้างหนี้ได้ โดยไม่ต้องกลัวการถูกดำเนินคดีหรือถูกข่มขู่ นอกจากนี้ ควรกำหนดเพดานดอกเบี้ยที่ชัดเจน และเป็นธรรม รวมถึงบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับเจ้าหนี้ที่คิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
.
“หลังจากที่รัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้แก้ปัญหา เรื่องการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบมาบางส่วนแล้ว จึงขอฝากนายกรัฐมนตรีรวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการความร่วมมือ แก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้ครบทั้งวงจร รวมถึงแก้กฎหมายควบคุมนายทุนปล่อยกู้นอกระบบให้คิดอัตราดอกเบี้ยอยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และคุ้มครองผู้กู้หรือลูกหนี้ไม่ให้เกิดการถูกคุกคามข่มขู่ทำร้าย ควบคู่กับการพัฒนา และการให้สินเชื่อที่ประชาชน และผู้ค้ารายย่อยสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ จะช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบให้อยู่ในระบบได้มากขึ้น เชื่อว่า หากทำจริงจัง และแก้ปัญหาให้ต่อเนื่อง จะเกิดความยั่งยืน ช่วยให้พี่น้องประชาชนหลุดออกจากวงจรหนี้สินได้แน่นอน“ นายธนกร กล่าว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า