Skip to content
Home » ปลูกป่าลดคาร์บอน ‘เอกนัฏ’ นำทีมจิตอาสา ก.อุตฯ สืบสานพระราชปณิธาน

ปลูกป่าลดคาร์บอน ‘เอกนัฏ’ นำทีมจิตอาสา ก.อุตฯ สืบสานพระราชปณิธาน

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก สาเหตุหลักมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งมั่นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่สภาพแวดล้อม โดยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มอากาศบริสุทธิ์คืนสู่สังคม และให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์และการฟื้นฟูป่าชายเลนให้มีสภาพสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งป่าชายเลนสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงกว่าป่าประเภทอื่นกว่า 3 – 4 ตัน/ไร่/ปี และที่ผ่านมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเห็นความสำคัญของป่าชายเลน และทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับป่าชายเลนเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2534 ในพระราชพิธีแรกนาขวัญหว่านข้าว ณ บริเวณสวนจิตรลดา ความตอนหนึ่งว่า “…ป่าชายเลนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศของพื้นที่ชายฝั่งทะเลและอ่าวไทย แต่ปัจจุบันป่าชายเลนของประเทศไทยเรากำลังถูกบุกรุกและถูกทำลายลงไปโดยผู้แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน จึงควรหาทางป้องกัน อนุรักษ์ และขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นโกงกาง เป็นไม้ชายเลนที่แปลกและขยายพันธุ์ค่อนข้างยาก เพราะต้องอาศัยระบบน้ำขึ้นน้ำลงในการเติบโตด้วย จึงขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องคือ กรมป่าไม้ กรมประมง กรมชลประทาน และกรมอุทกศาสตร์ ร่วมกันหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการทดลองขยายพันธุ์โกงกางและปลูกสร้างป่าชายเลนกันต่อไป…”
.
ดังนั้น เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และร่วมสืบสานพระราชปณิธาน ในการปกป้อง ดูแลรักษา และฟื้นฟูป่าชายเลน กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จัดกิจกรรมจิตอาสา “กระทรวงอุตสาหกรรมปลูกป่าชายเลน เพิ่มการดูดซับก๊าซเรือนกระจก ลดภาวะโลกร้อน” เนื่องในวันนวมินทรมหาราช 13 ตุลาคม 2567 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ภายใต้โครงการจิตอาสา “อุตสาหกรรมรวมใจ ดูแลสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ลม ไฟ” ณ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยปลูกป่าชายเลน จำนวน 77,100 ต้น ในพื้นที่ 100 ไร่ เพื่อรักษาระบบนิเวศทั้งทางบกและทางน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้อยใหญ่หลากหลายชนิด และยังเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของสัตว์ทะเลให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งคาดว่าป่าชายเลนช่วยเพิ่มศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 100 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าต่อปี ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนที่เรากำลังเผชิญอยู่
.
โดยในวันนี้ (10 ตุลาคม 2567) ผมและปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายณัฐพล รังสิตพล) พร้อมคณะข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ได้ไปร่วมกับเหล่าจิตอาสาทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่ กว่า 500 คน ปล่อยปูดำ จำนวน 83 ตัว และปลูกป่าชายเลน จำนวน 11,565 ต้น ได้แก่ ต้นจิกทะเล ต้นโปรงแดง ต้นโปรงขาว ต้นโกงกาง ต้นถั่วขาว และต้นพังกาหัวสุมดอกแดง ในพื้นที่ 15 ไร่ และอีก 85 ไร่ ทางหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จะร่วมดำเนินการให้ครบถ้วน 100 ไร่ ต่อไป
.
“กิจกรรมดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญของภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 ขอฝากทุกท่านร่วมกันรณรงค์รักษาผืนป่าชายเลนแห่งนี้ให้คงอยู่และเติบโต สร้างคุณประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่าและยั่งยืน ถึงแม้เป็นเพียงการเริ่มต้นเพียงเล็กน้อย แต่ในอนาคตผืนป่าชายเลนจะยังคงสร้างคุณประโยชน์แก่โลกของเราได้อีกมาก ขอชื่นชม และขอขอบคุณภาคีเครือข่ายหน่วยงานราชการ ประชาชน และผู้ประกอบกิจการโรงงาน ที่ร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมทำความดีให้เกิดผลสัมฤทธิ์ โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและผืนป่าอย่างแท้จริง” เอกนัฏ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวทิ้งท้าย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า